บทความ

Volume 1

เปิดมุมมองการก่อการร้ายในรัสเซียผ่านมิติทางอาชญาวิทยา

นางสาวแสงโสม กออุดม[1]

 

     ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกต่างให้การตระหนักถึงภัยจากการก่อการร้าย ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรง        มากยิ่งขึ้น โดยไม่อาจคาดการณ์ถึงเวลา สถานที่และรูปแบบการก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้น  ประกอบกับความรุนแรงและความเสี่ยงในการตกเป็นเป้าโจมตียังแปรผันข้ามผ่านกาลเวลา ระยะทางและพื้นที่ โดยประเทศต่างๆถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยส่วนใหญ่การอธิบายปรากฏการณ์การก่อการร้ายได้มีการกล่าวถึงอย่างมากในมิติทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งได้อธิบายถึงองค์ประกอบของการก่อการร้ายว่า การก่อการร้ายประกอบด้วยปัจจัยสำคัญสามประการ ได้แก่ การใช้ความรุนแรง การมีจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ทางการเมืองรองรับ และการก่อให้เกิดความหวาดกลัว และมีรูปแบบที่ขับเคลื่อนการก่อการร้าย 3 รูปแบบ คือ การก่อการร้ายที่มาจากกระบวนการชาตินิยม การก่อการร้ายที่มาจากขบวนการอุดมการณ์ทางการเมือง และการก่อการร้ายที่มาจากขบวนการทางศาสนา อย่างไรก็ตาม การพิจารณาการก่อการร้ายในมิติทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพียงแง่มุมเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการอธิบายปรากฏการณ์การก่อการร้ายได้ ดังนั้นในบทความเรื่องนี้มุ่งที่จะพิจารณาถึงการอธิบายปรากฏการณ์การก่อการร้ายในรัสเซียผ่านมิติทางอาชญาวิทยา ซึ่งเป็นการนำเสนอมุมมองการก่อการร้ายในมิติที่แตกต่างกันออกไป

 

     การอธิบายปรากฏการณ์การก่อการร้ายในรัสเซียผ่านมิติทางอาชญาวิทยา มุ่งพิจารณามูลเหตุจูงใจ พฤติกรรมของผู้ก่อการร้าย รวมทั้งรูปแบบการก่อการร้าย ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายได้ปฏิบัติการโดยมีรากฐานที่ตั้งอยู่บนการตีความตามจุดมุ่งหมาย อันปรากฏออกมาในรูปแบบของการรับรู้สภาพทางสังคม ซึ่งถูกกลั่นกรองผ่านทางความคิด ความเชื่อ รวมทั้งทัศนคติ โดยเป็นผลสะท้อนพฤติกรรมและความทรงจำครั้งในอดีตการก่อการร้ายได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมของรัสเซียมาอย่างยาวนาน โดยกลุ่มก่อการร้ายในรัสเซียที่ก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง คือ กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชน ที่ได้รวมตัวกันอันมีวัฒนธรรมรองซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ที่ทำให้เกิดความเหนียวแน่นในการหล่อหลอมด้านเชื้อชาติและมีแนวความคิดในการแบ่งแยกดินแดนที่เรียกว่า สาธารณรัฐเชชเนีย ให้เป็นอิสระจากการเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของประเทศรัสเซีย จึงมีการพัฒนาไปสู่การรวมกลุ่มเป็นกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งประสบกับความล้มเหลว  ในการเรียกร้องความต้องการของตนเองมาโดยตลอด จึงใช้วิธีการก่อการร้ายเพื่อสร้างข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่ม แม้จะมีข้อจำกัดบางประการ แต่มีการกำหนดทิศทางในการมุ่งสู่ผลลัพธ์และประเมินความเป็นไปได้อย่างรอบด้าน เพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือ การแบ่งแยกดินแดน โดยกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนมีกระบวนการตัดสินใจที่เกิดขึ้นภายหลังจากการชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์ที่ได้รับและผลจากการกระทำ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์อันเป็นเป้าหมายร่วมกันของกลุ่มที่ปรากฏออกมาในรูปแบบของการก่อการร้าย

 

     เมื่อพิจารณาโครงสร้างของกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชน พบว่า มีโครงสร้างองค์กรที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยทหารและมีฐานปฏิบัติการอยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียง โดยสมาชิกภายในกลุ่มก่อการร้ายมีการรักษาสายสัมพันธ์ภายในกลุ่มไว้อย่างเหนียวแน่น และมีความเกี่ยวข้องในระดับเครือญาติ ซึ่งมีพันธะสัญญาหรือข้อผูกพันระหว่างกัน คือ การปกป้อง คุ้มครอง ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสมาชิกภายในกลุ่ม มีตำแหน่งและลำดับชั้น การแบ่งสายการบังคับบัญชาภายในกลุ่ม แม้ว่ากลุ่มก่อการร้ายชาว  เชเชนจะมีหลากหลายกลุ่ม และมีวัตถุประสงค์ในการก่อเหตุที่แตกต่างกันออกไป อาทิ การแบ่งแยกดินแดนในเชชเนีย ความแตกต่างทางอุดมการณ์ และความต้องการผลประโยชน์สูงสุด  แต่กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนแต่ละกลุ่ม กลับมีความหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการปฏิบัติการก่อเหตุแต่ละครั้ง ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการพัฒนาไปสู่การเป็นเครือข่ายผู้ก่อการร้ายที่โยงใยกับประเทศต่างๆทั่วโลก

 

    กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนมีอัตลักษณ์ของกลุ่มและมีวัฒนธรรมรองที่เป็นเอกลักษณะเฉพาะกลุ่มของตนที่ยึดโยงทำให้เกิดการรักษาระดับความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม และมีพฤติกรรมร่วมหรือพฤติกรรมหมู่ ที่เกิดขึ้นจากการมีแรงจูงใจ ความรู้สึกนึกคิด และทัศนคติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตามสภาพแวดล้อมทางสังคมนับว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย เนื่องด้วยความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างกลุ่มบุคคลในสังคม ส่งผลให้เกิดความเต็มใจหรือสมัครใจที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย โดยสมาชิกของกลุ่มมีความซื่อสัตย์ ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน จึงทำให้เกิดความใกล้ชิดภายในกลุ่ม ยากแก่การแทรกซึมของสายลับ สำหรับในด้านการสรรหาสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชน จะใช้วิธีการชักจูงวัยรุ่นชายให้เข้าร่วมการปฏิบัติการใต้ดิน และส่งเสริมการใช้วัฒนธรรมรองด้านการใช้ความรุนแรง และความไม่ไว้วางใจต่อบุคคลที่ไม่ใช่ชาวเชเชน

 

     อย่างไรก็ตาม กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชน ประกอบด้วย 3 กลุ่มสำคัญ ที่มีเป้าหมายในการรวมกลุ่มแตกต่างกัน และมีการปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระ โดยมีลักษณะเฉกเช่นเดียวกับเครือข่ายก่อการร้าย  Al-Qaeda ที่ประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ ได้แก่ 1) กลุ่มที่เป็นแกนหลักในการต่อต้านรัสเซีย เกิดจากรวมตัวกันของผู้ที่มีลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งในการต่อต้านรัสเซีย รวมทั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนอิสลามในเชชเนีย และนักรบมุสลิม 2) กลุ่มอาชญากรที่ได้รวมตัวกัน โดยมีมูลเหตุจูงใจจากผลประโยชน์สูงสุดที่ได้รับจากการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามทางศาสนา การลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน การค้ายาเสพติด และการเรียกค่าไถ่ และ 3) กลุ่มผู้ล้างแค้น โดยมีมูลเหตุจูงใจจากการที่สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลอันเป็นที่รักถูกสังหาร ลักพาตัว หรือถูกทรมานซึ่งกระทำโดยฝ่ายรัสเซียหรือชาวเชเชนที่ให้การสนับสนุนรัสเซีย กล่าวได้ว่า กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนที่ก่อเหตุความรุนแรงในรัสเซียนั้น มีเหตุปัจจัยมาจากการถูกรัสเซียโจมตี จากสงครามความรุนแรงระหว่างเชชเนียและรัสเซีย ทำให้ประชาชนชาวเชเชนถูกสังหารเป็นจำนวนมาก สร้างความโกรธแค้นและความเดือดร้อนแก่ครอบครัวของเหยื่อ ประชาชนกว่าหนึ่งแสนรายถูกเทรเทศให้ออกจากพื้นที่ และกลายเป็นผู้ลี้ภัยไปยังดินแดนใกล้เคียง ส่งผลทำให้เกิดการสนับสนุนการรวมกลุ่มและพัฒนาไปสู่การเป็นกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชน

 

     เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยผลักดันการก่อการร้ายในรัสเซียที่กระทำโดยกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชน ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สะท้อนภาพออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงแห่งเหตุและผล กล่าวคือ ชาวมุสลิมในรัสเซียนั้นได้ถูกเลือกปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิรัสเซีย และถ่ายทอดมาถึงชาวเชเชนซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลาม มีการทำลายสถานที่สำคัญทางศาสนา การสนับสนุนให้ชาวมุสลิมเปลี่ยนศาสนาและเนรเทศไปอยู่ที่ห่างไกล หรือการผลักดันให้ชาวรัสเซียที่นับถือศาสนาคริสต์เข้ามาอาศัยในพื้นที่ของชาวมุสลิม เป็นมูลเหตุให้ชาวมุสลิมไม่พอใจกับการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลทำให้เกิดความเป็นชาตินิยม ความต้องการแบ่งแยกดินแดนและนำไปสู่  การใช้วิธีการก่อการร้ายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของกลุ่มตนในที่สุด ซึ่งมีลักษณะของการผสมผสานระหว่าง ความเป็นชาตินิยม การก่อกบฏ และการมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างรุนแรง

 

     นอกจากนี้เมื่อพิจารณาด้านพฤติกรรมของกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชน พบว่า ผู้ก่อการร้ายชาว      เชเชนเกิดความรู้สึกโกรธแค้น สิ้นหวังและได้รับแรงกดดันจากสังคม จึงผลักดันให้มีระบบความคิดคตินิยมอย่างสุดโต่ง ประกอบกับความรู้สึกโดดเดี่ยว และต้องการได้รับการสนับสนุนจากสังคม ซึ่งมีความมุ่งหวังว่าการเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายจะทำให้มีสถานภาพและจุดยืนทางสังคม อีกทั้งได้รับการฝึกฝนเพื่อปกป้องตนเองจากสภาวะการถูกแทรกซึม และมีพฤติกรรมในการปฏิบัติการลับ และเกิดการตระหนักว่าตนเองเป็นนักรบหรือทหารในสงคราม ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและกลายเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้ผู้ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนเกิดความซื่อสัตย์ จงรักภักดีและมีความผูกพันต่อกลุ่มก่อการร้าย พร้อมอุทิศตน ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

 

     ด้านรูปแบบการใช้ความรุนแรง กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนมีการเตรียมความพร้อมด้านยุทธวิธี และการใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติการในแต่ละครั้ง โดยรูปแบบวิธีการก่อการร้ายที่เกิดขึ้น มักใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร การจับเป็นตัวประกัน การระเบิดพลีชีพ การระเบิดสถานที่สำคัญที่มีประชาชนจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากที่สุด ใช้ความรุนแรงในระดับสูง และทำให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนปฏิเสธการปะทะกับแก๊งหรือกลุ่มอื่นๆ โดยมีการก่อเหตุรุนแรงที่สำคัญ ได้แก่ (1) เหตุการณ์จับตัวประกันที่โรงละครในกรุงมอสโก ในปี ค.ศ. 2002  (2) เหตุการณ์จับตัวประกันที่โรงเรียนเบสลัน (Beslan School Siege) ในปี ค.ศ. 2004  (3) เหตุการณ์ระเบิดรถไฟใต้ดินในกรุงมอสโก ค.ศ. 2010 และ (4) เหตุการณ์ระเบิดที่สนามบินนานาชาติโดโมเดโดโว (Domodedovo International Airport) ในปี ค.ศ. 2011 เป็นต้น

 

     อย่างไรก็ตาม กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนใช้รูปแบบการก่อเหตุที่เกี่ยวข้องกับ การใช้หนังสือเดินทางปลอม การปลอมสำเนาทะเบียนบ้านในกรุงมอสโกและการปลอมแปลงวีซ่า โดยใช้วิธีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจและมีผู้จัดทำเอกสารปลอม ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับขบวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ว่าจะได้รับการป้องกันด้านข้อมูล ดังเช่น ในกรณีของหนังสือเดินทาง พบว่า เมื่อข้อมูลจากหนังสือเดินทางได้ถูกจัดเก็บสู่ระบบศูนย์กลางฐานข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในแห่งรัสเซียแล้วนั้น ซึ่งทำให้   ผู้ถือหนังสือเดินทางได้รับการป้องกันอัตลักษณ์ แต่กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนที่ก่อเหตุตัวประกันที่โรงละครในกรุงมอสโกในปี ค.ศ. 2002  ยังสามารถใช้วิธีการปลอมแปลงหนังสือรับรองความประพฤติซึ่งได้รับการปลอมแปลงขึ้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจรัสเซีย เพื่อใช้ในการเข้าสู่ประเทศ นอกจากนี้กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนยังได้รับการสนับสนุนและประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิกองค์กรอาชญากรรมต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การทุจริตคอรัปชั่นยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงเจ้าหน้าที่รัฐ   ที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวได้ว่า กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนใช้การทุจริตคอรัปชั่นในการได้มาซึ่งการปลอมแปลงเอกสาร และสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐภายในวงการราชการทำการทุจริตคอรัปชั่น ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการลักลอบนำชาวเชเชนเข้ามาในประเทศรัสเซีย และทำการทุจริตคอรัปชั่นผ่านสถาบันทางกฎหมาย ในลักษณะของการปลดปล่อยผู้ก่อการร้ายที่ถูกคุมขังหรือลดโทษในช่วงระหว่างการจำคุก

 

     อย่างไรก็ตาม กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนมักไม่ก่อเหตุโจมตีเป้าหมายที่อยู่ภายนอกประเทศรัสเซีย แม้ว่า กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนได้มีการระดมทุนจากกิจกรรมต่างๆในต่างประเทศ รวมทั้งการทำสงครามผ่านการโฆษณาชวนเชื่อจากผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ ซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ภายนอกประเทศรัสเซีย และมีการสรรหาสมาชิกใหม่ซึ่งอยู่ต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา โดยใช้วิธีการติดต่อสื่อสารไปยังสมาชิกที่อยู่ยังต่างประเทศผ่านช่องทางทาง e-mail การโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม และการใช้เทปบันทึกเสียงซึ่งกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากองค์กรอาชญากรรมเชเชน โดยในปี ค.ศ.1999 ได้มีการควบคุมบริษัทเอกชนและธนาคารกว่า 2,000 แห่งในรัสเซีย รวมทั้งบริษัทเอกชนในกรุงมอสโกกว่า 12 บริษัท และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและมีช่องทางทางการเงินที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้กลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินและกำลังคนจากกลุ่มศาสนาหัวรุนแรงในประเทศมุสลิม ที่เรียกว่า กลุ่ม Al Qaeda รวมทั้งการสนับสนุนจากองค์กรเอกชนในประเทศตุรกีและองค์กร Al-Haramain Islamic Foundation แห่งซาอุดิอาระเบีย และการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศมุสลิมในการก่อการร้ายแต่ละครั้ง

 

     ดังนั้นการมองปรากฏการณ์การก่อการร้ายในรัสเซียผ่านมิติทางอาชญาวิทยา ได้นำเสนอมุมมองการก่อการร้ายในมิติที่แตกต่างจากมิติทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยพิจารณามูลเหตุจูงใจ พฤติกรรมและรูปแบบของกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชน ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้พิจารณาผ่านบริบททางสังคมและวัฒนธรรม อันเป็นโครงสร้างในการกำหนดพฤติกรรมของกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวเชเชน โดยสามารถอธิบายการกระทำของสมาชิกกกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนได้ว่า ล้วนมาจากความตั้งใจ ที่ผ่านกระบวนไตร่ตรองและการใช้เหตุผล โดยพิจารณาถึงทางเลือกที่ได้รับผลประโยชน์จากการก่อการร้าย กล่าวได้ว่า การตัดสินใจที่จะก่อการร้ายนั้น เกิดขึ้นจากกระบวนการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นกระบวนการคิดก่อนลงมือปฏิบัติการก่อการร้าย

 

     ไม่เพียงเท่านั้น การก่อการร้ายซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่ง การให้การตระหนักถึงปัจจัยทางวัฒนธรรมสามารถทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้เกี่ยวกับมูลเหตุจูงใจของผู้ก่อการร้าย โดยพิจารณาจากผู้ก่อการร้ายและการก่อการร้ายในบริบททางวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ดังเช่นในกรณีของการก่อการร้ายในรัสเซียโดยกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชน นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดความเข้าใจในพฤติกรรมและแก่นความเชื่อหลักของกลุ่มก่อการร้าย โดยพิจารณาผ่านทางประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ คำแถลง/แถลงการณ์ของกลุ่มก่อการร้าย การวิเคราะห์การก่อการร้ายสามารถมองไปถึงการทำงานของกลุ่ม ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การจัดการกับปัญหาการก่อการร้ายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

     กล่าวโดยสรุป การอธิบายการก่อการร้ายในรัสเซียผ่านมิติทางอาชญาวิทยา ให้ความสำคัญกับสาเหตุและแรงจูงใจในการกระทำผิดของผู้ก่อการร้ายชาวเชเชน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับรูปแบบในการก่อเหตุรวมถึงการป้องกันการก่อเหตุ โดยกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนมีรูปแบบการก่อการร้ายที่มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือมีความรุนแรง ทั้งในระดับการใช้จริงและการข่มขู่ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรัสเซียให้ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มตนและสร้างให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว ซึ่งการก่อการร้ายมีความแตกต่างจากอาชญากรรม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการก่ออาชญากรรม คือ การได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างให้เกิดความหวาดกลัวได้มากเท่ากับการก่อการร้าย อีกทั้งตัวอาชญากรไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ในอดีตกลุ่มก่อการร้ายชาวเชเชนมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมอย่างถอนรากถอนโคลน แต่ในปัจจุบันรูปแบบหรือแนวปฏิบัติของกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวเชเชนได้มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่พร้อมกับการขับเคลื่อนผ่านความลุ่มหลงทางศาสนา ซึ่งสร้างความหวาดกลัวอย่างที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติมาก่อน

 

     สำหรับมิติด้านสาเหตุและแรงจูงใจในการเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายนั้น มิติทางอาชญาวิทยามองว่า ผู้ก่อการร้ายได้รับแรงจูงใจจากการมองเห็นโอกาสของการได้มาซึ่งผลประโยชน์ทั้งในระดับรายได้ส่วนบุคคลและเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย ดังนั้น การทำความเข้าใจการก่อการร้ายในมิติอาชญาวิทยาจึงมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย โดยมุ่งพิจารณาพฤติกรรมของผู้ก่อการร้าย เป้าประสงค์และมูลเหตุจูงใจ  เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และพัฒนาไปสู่ขีดความสามารถของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาการก่อการร้าย อีกทั้งการวางแนวในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายที่ให้ความสำคัญกับการตัดมูลเหตุจูงใจของผู้ก่อการร้าย อันเป็นไปเพื่อเป็นการตัดมูลเหตุแห่งการกระทำผิดของผู้ก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การให้ความตระหนักถึง พฤติกรรมและความเชื่อหลักของกลุ่มก่อการร้าย สามารถทำให้รัฐบาลเข้าใจถึงเป้าหมายที่แท้จริงของกลุ่มก่อการร้ายและสิ่งสำคัญคือ การเข้าใจว่า กลุ่มก่อการร้ายมองตนเองว่าเป็นกลุ่มชนทางเชื้อชาติที่มีความผสมผสานความเป็นชาติพันธุ์ ศาสนา และมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรม จนหลอมรวมให้เกิดความมีอัตลักษณ์ของกลุ่มตน ดังนั้นการก่อการร้ายควรอาศัยมิติที่หลากหลายในการอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว

 

รายการอ้างอิง

 

Frisby, T. The rise of organized crime in Russia: Its roots and social significance. (Europe-Asia  Studies,1998).

Haken, J. Transnational crime in the developing world. (Washington D.C.: Global Financial Integrity, 2011).

Haberfeld, M.R.Hassell Agostino. A New Understanding of Terrorism

 [electronic resource] :Case Studies, Trajectories and Lessons Learned. (New York, NY : Springer US, 2009).

Hoffman, Bruce. Inside Terrorism. (New York: Columbia University Press, 1998).

Law, Randall David. Terrorism : A history. (Cambridge : Polity Press, 2016).

Lynch, Orla &Argomaniz, Javier. Victims of terrorism : A comparative and interdisciplinary study. (London : Routledge, 2015).

Martin McCauley. Russia: A History, edited by Gregory L. Freeze (New York: Oxford University Press, 2002).

Ruggiero, Vincenzo. Political Violence : criminological analysis, in International Crime and Justice, MangalNostarajam (ed). (Cambridge University Press, U.K., 2011).

Simons, Greg. Mass media and modern warfare [electronic resource] : reporting on the Russian war on terrorism. (Farnham, Surrey ; Burlington, VT : Ashgate, c2010).

Smith, Graham. The Post-Soviet States Mapping the Politics of Transition. (New York : Oxford University Press, 1999).

Viano, J. Magallanes and L. Bridel. Transnational Organized Crime (North Carolina: CAROLINA ACADEMIC PRESS, 2003).

 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

นัทธี จิตสว่าง. ความแตกต่างของการก่อการร้ายกับอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime).[ออนไลน์].2559. แหล่งที่มา https://www.gotoknow.org/posts/609456

 

นัทธี จิตสว่าง. ความแตกต่างของการก่อการร้ายกับอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime).[ออนไลน์].2559. แหล่งที่มา https://www.gotoknow.org/posts/609456

 

 

[1] นิสิตปริญญาเอก สาขาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

H O M E

A B O U T

O U R T E A M

Nathee Chitsawang

Copyright 2016 | All Rights Reserved.