บทความ

อาชญาวิทยา จงเจริญ

นัทธี  จิตสว่าง

 

     หลังจากที่อาชญาวิทยาประกาศเอกราชจากสังคมวิทยาและหย่าขาดจากนิติศาสตร์อย่างเด็ดขาดในช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยประกาศตัวเองเด่นชัดเป็นสาขาวิชาอิสระไม่ขึ้นต่อศาสตร์สาขาใดและไม่มีสภาพเป็น “เจ้าไม่มีศาล” ที่ไปมีการเรียนการสอนในคณะวิชาต่างๆ แต่ไม่มีคณะวิชาของตนเองอีกต่อไป อาชญาวิทยามีความเด่นชัดในการเป็นสหวิทยาการที่นำเอาความรู้จากศาสตร์สาขาต่างๆ มาใช้อธิบาย พรรณนา และทำนายปรากฎการณ์ของอาชญากรรม แต่มาถึงทศวรรษนี้ อาชญาวิทยาเริ่มเผชิญกับการท้าทายใหม่ของสาขาวิชาอื่นอีกครั้งนั้นคือความโดดเด่นของวิชาการบริหารงานยุติธรรม (Criminal Justice Administration) และสาขางานยุติธรรม (Criminal Justice) ซึ่งทั้งอาชญาวิทยาและการบริหารยุติธรรมหรืองานยุติธรรมเคยเป็นสาขาวิชาคู่แฝดกับอาชญาวิทยากันมาตลอด มาถึงบัดนี้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “การบริหารงานยุติธรรม” จะมาแทน “อาชญาวิทยา” หรือไม่

 

 

 

          ความเกี่ยวพันของทั้งสองวิชานี้เริ่มจากที่รัฐบาลสหรัฐได้ทุ่มเงิน 1500 ล้านเหรียญ ในการพัฒนางานกระบวนการยุติธรรมเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมและความไร้ระเบียบของสังคมอเมริกันในช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งรวมถึงการพัฒนาภาควิชาอาชญาวิทยาและภาควิชาการบริหารงานยุติธรรมขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุคนี้อาชญาวิทยามีความแตกต่างจากการบริหารงานยุติธรรมอย่างชัดเจน โดยคณะที่เปิดสอนอาชญาวิทยา เช่น School of Criminology ของ University of California at Berkeley หรือ Washington State University และ Florida state University จะเน้นการเรียนการสอนทางทฤษฎีและงานวิจัยทางอาชญาวิทยาอย่างชัดเจน ในขณะที่มหาวิทยาลัยที่สอนด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น Michigan State University, New York University at Albany และ California State University at Fresno เน้นการสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติและวิชาชีพโดยเน้นการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรม การบริหารงานตำรวจ การบริหารงานราชทัณฑ์ อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามมาถึงปัจจุบันความแตกต่างเริ่มหายไป มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนโปรแกรมอาชญาวิทยาจะไม่มีความแตกต่างจากโปรแกรมงานยุติธรรมหรือบริหารงานยุติธรรมเท่าใดนักและหลายมหาวิทยาลัยจะใช้ชื่อว่า School of Criminology and Criminal Justice เสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้ โดยการผสมผสานระหว่างหลักทฤษฏีกับหลักปฏิบัติเข้าด้วยกัน โดยมุ่งเน้นที่จะสร้าง “นักทฤษฎีที่ไม่ทอดทิ้งหลักปฏิบัติ และนักปฏิบัติที่ไม่ทอดทิ้งหลักทฤษฎี”

 

          แต่โดยเหตุที่การบริหารงานยุติธรรมเป็นวิชาที่สามารถนำไปใช้ในการทำงาน เน้นการนำไปใช้ เน้นความเป็นในวิชาชีพที่จะรองรับที่มากกว่าอาชญาวิทยาที่จะเป็นแค่นักวิจัยหรืออาจารย์  ดังนั้น วิชาการบริหารงานยุติธรรมจึงดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากกว่าและเริ่มมีความโดดเด่นข่มรัศมีของอาชญาวิทยา ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดคำถามว่าอาชญาวิทยากำลังถูกคุกคามจากวิชาการบริหารงานยุติธรรมและกำลังจะถูกกลืนไปอีกวิชาหนึ่งเช่นเดียวกับที่ “เพื่อนตาย” ของอาชญาวิทยา คือ “ทัณฑวิทยา” (Penology) ถูกวิชา “การแก้ไขฟื้นฟู” หรือ     “การราชทัณฑ์” (Corrections) กลืนหายไป เพราะในอดีตนั้นเมื่อพูดถึงอาชญาวิทยาจะต้องคู่กับทัณฑวิทยาเสมอ ดังจะเห็นได้จากหนังสือของนักอาชญาวิทยาที่โด่งดังในอดีต อาทิ John Lewis Gillin (1926) หรือ D. Dressler (1972) ใช้ชื่อ Criminology and Penology เช่นเดียวกับงานของ Richard Korn (1959) ก็ใช้ชื่อนี้มาโดยตลอด ในขณะที่หนังสืออาชญาวิทยาของไทย เช่น หลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาของอาจารย์ไชยเจริญ สันติสิริ  หรือหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาของอาจารย์ชาย  เสวิกุล เป็นต้น แต่มาปัจจุบันวิชาทัณฑวิทยาถูกวิชา “การแก้ไขฟื้นฟู” หรือ “การราชทัณฑ์” (Correction) บดบังจนหมดสิ้น ทั้งนี้โดยอาศัยความที่เป็นวิชาชีพที่สามารถนำไปใช้ได้ในทางปฏิบัติและอาศัยที่ปรัชญาในการลงโทษเปลี่ยนไป เหตุการณ์เช่นนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับอาชญาวิทยาซึ่งเป็นวิชาทางด้านทฤษฏีเช่นเดียวกับทัณฑวิทยาหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องติดตาม

 

 

 

          ผู้เขียนมีความเห็นว่า การเผชิญหน้ากับการบริหารงานยุติธรรมนับเป็นสิ่งท้าทายและขณะเดียวกันก็เป็นโอกาส กล่าวคือ การเข้าร่วมกับ “การบริหารงานยุติธรรม” จะเป็นโอกาสอันดีให้อาชญาวิทยาได้เข้าไปเกี่ยวพันกับงานในกระบวนการยุติธรรม อันจะเป็นการเชื่อมโยงไปสู่สาขาวิชาอื่น เช่น นิติศาสตร์ จิตวิทยา นิติวิทยาศาสตร์ สังคมวิทยา ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการบริหารงานยุติธรรม โดยเฉพาะนิติศาสตร์ที่มีความผูกพันกับการบริหารงานยุติธรรมมาก การเข้าเชื่อมโยงกับการบริหารงานยุติธรรม จะทำให้นักนิติศาสตร์เข้ามารู้จักอาชญาวิทยามากขึ้น นำความรู้จากอาชญาวิทยาไปประยุกต์ใช้ในงานยุติธรรมมากขึ้น นอกจากนี้การกำหนดนโยบายทางอาญาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการบริหารงานยุติธรรมก็เกี่ยวข้องกับรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งทำให้นักรัฐประศาสนศาสตร์ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาชญาวิทยามากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น เป็นที่ไม่น่าแปลกใจเลยว่าในการประชุมทางวิชาการทางด้านอาชญาวิทยา เราจะพบหัวข้อการประชุมที่เกี่ยวข้องกับวิชาการสาขาต่างๆ และพบกับผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ โดยเฉพาะนักนิติศาสตร์ นักจิตวิทยา นักนิติวิทยาศาสตร์ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ทนายความ นักการราชทัณฑ์ ผู้บริหารงานยุติธรรม นักสังคมวิทยา มาร่วมประชุมกับนักอาชญาวิทยา (Criminologist) ในการประชุมทางด้านอาชญาวิทยา ดังจะเห็นได้จากการประชุมประจำปีของสมาคมอาชญาวิทยาแห่งเอเชีย  ครั้งที่ 4 ที่จัดร่วมกับสถาบันอาชญาวิทยาของเกาหลีใต้ จัดขึ้นที่กรุงโซล ในระหว่างวันที่  20 – 22 สิงหาคม 2555 หรือการประชุมประจำปีของสมาคมอาชญาวิทยาของสหรัฐอเมริกา ที่จัดขึ้นทุกปี จะเห็นบทบาทของอาชญาวิทยาผสมกลมกลืนไปกับวิทยาการแขนงต่างๆ ในการอธิบาย ทำนาย ปรากฏการณ์อาชญากรรม พร้อมเสนอแนวทางในการป้องกันและควบคุมอาชญากรรมบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม

 

 

 

          แต่การที่อาชญาวิทยาจะได้รับการยอมรับและไม่ถูกบริหารงานยุติธรรมกลืนนั้น อาชญาวิทยาต้องมีการสร้างความเข้มแข็งและเสริมสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาชญาวิทยาต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางอาชญากรรมของโลกที่เปลี่ยนไป เหตุการณ์ 911 ในสหรัฐและการก่อการร้ายในที่ต่างๆ ของโลก ทำให้การจัดระเบียบความสัมพันธ์และการรักษาความสงบเรียบร้อยร่วมกันของสังคมเปลี่ยนไป โลกให้ความสนใจกับเรื่องของการรักษาความปลอดภัยมากขึ้นมาเทียบชั้นกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิส่วนบุคคล การก้าวไปสู่โลกาภิวัตน์ของประเทศต่างๆ ทำให้การติดต่อสัมพันธ์ของธุรกิจการค้า การเดินทางของผู้คน ตลอดจนรูปแบบของอาชญากรรมเปลี่ยนแปลงไป โลกเริ่มให้ความสนใจต่อองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ การทุจริตคอร์รัปชั่น อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม และอาชญากรรมไซเบอร์ มากกว่าอาชญากรรมตามท้องถนนธรรมดา อาชญาวิทยาจึงต้องเปลี่ยน ทฤษฏีอาชญาวิทยาต้องอธิบายถึงอาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปได้ อาชญาวิทยาต้องสร้างงานวิจัยและศึกษาอาชญากรรมประเภทใหม่ๆ แบบแผนพฤติกรรม  รวมตลอดไปถึงแนวทางการป้องกันอาชญาวิทยาจึงจะมี  องค์ความรู้ที่แข็งแกร่งที่ศาสตร์อื่นๆ จะหยิบยืมนำอาชญาวิทยาไปประยุกต์ใช้ อาชญาวิทยาจึงจะมีคุณค่าและสามารถอยู่รอดได้ไม่ถูกกลืนไปโดยวิชาบริหารงานยุติธรรม

 

 

 

          สำหรับในประเทศไทย เป็นที่น่ายินดีที่ได้มีการจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมทางวิชาการและสนับสนุนการศึกษาค้นคว้า วิจัยเกี่ยวกับอาชญาวิทยา งานยุติธรรม กฎหมาย และการอนุวัติการตามข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) จึงเป็นโอกาสที่ดีที่นักอาชญาวิทยาในประเทศไทยจะได้มีสถาบันที่ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านอาชญาวิทยาขึ้นมาเติมเต็มความฝันของนักอาชญาวิทยาในประเทศไทยที่ได้มีความพยายามที่จะก่อตั้งสถาบันอาชญาวิทยาขึ้นมาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2522 ที่ได้จัดให้มีการประชุมขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬา โดยมีสถาบันอาชญาวิทยาของออสเตรเลีย โดยนายวิลเลียม คลิฟฟอร์ดมาเป็นผู้ให้การสนับสนุน แม้ว่าการมีสถาบันเพื่อสนับสนุนงานศึกษาวิจัยและพัฒนางานด้านอาชญาวิทยาจะเกิดขึ้นช้าไปบ้าง แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่นักอาชญาวิทยาในประเทศไทยจะได้พัฒนาสร้างความเจริญให้กับสาขาวิชาอย่างจริงจังและเป็นปึกแผ่นขึ้นมาเสียที

 

 

 

นับถึงชั่วโมงนี้จึงร้องตะโกนได้เลยว่า

 

“อาชญาวิทยา จงเจริญ !”

 

“อาชญาวิทยา จงเจริญ !”

 

“อาชญาวิทยา จงเจริญ !”

 

แหล่งที่มา : http://www.nathee-chitsawang.com/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2-%E0%B8%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%8D

Nathee Chitsawang

Copyright 2016 | All Rights Reserved.