บทความ
Volume 1
การส่งผู้ต้องขังคืนสู่สังคมของราชทัณฑ์สิงคโปร์
โดย วันวิสา เพ็งอุดม
การส่งผู้ต้องขังคืนสู่สังคมของราชทัณฑ์สิงคโปร์
สิงคโปร์นับเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการส่งผู้ต้องขังกลับสู่สังคม เนื่องด้วยมีระบบการฟื้นฟูดูแลและการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยจากเรือนจำที่เข้มข้นภายใต้การกำกับดูแลโดยกรมราชทัณฑ์ การสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของผู้ต้องขังหลังพ้นโทษโดยความร่วมมือของหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม การผลักดันค่านิยมการสร้างการยอมรับและให้โอกาส ในการกลับมาใช้ชีวิตในสังคมหลังพ้นโทษผ่านโครงการต่างๆ ด้วยระบบที่มีการเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพนี้ ทำให้เกิดเครือยข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญในการส่งตัวผู้ต้องขังกลับสู่สังคมของราชทัณฑ์สิงคโปร์ได้อย่างดีเยี่ยมส่งผลให้สถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัวออกไปครบ 3 ปี ลดลงจากร้อยละ 26.5 ในปี 2014 เป็นร้อยละ 25.9 ในปี 2015 บทความนี้ จึงมุ่งเน้นที่จะเสนอในเรื่องการเตรียมความพร้อผู้ต้องขังก่อนปล่อยตัวและการดูแลผู้ต้องขังหลังปล่อยตัว เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการในการส่งตัวผู้ต้องขังคืนสู่สังคม ของราชทัณฑ์สิงคโปร์ได้อย่างชัดเจน
เรือนจำเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยของสิงคโปร์
เรือนจำของสิงคโปร์อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์ โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ศูนย์ Changi Prison Complexที่นี่มีทั้งเรือนจำระดับความมั่นคงสูงสุด เรือนจำระดับความมั่นคงปานกลาง จนถึงเรือนจำระดับ ความมั่นคงต่ำโดยเป็นเรือนจำเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ ทั้งด้านการพัฒนาพฤตินิสัย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการฝึกอาชีพ ภายในมีการจัดการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมอย่างครบวงจร โดยรวมเอาทั้งเรือนนอนสถานพยาบาล สถานฝึกอาชีพ โรงเรียน และโรงงานมาไว้ ในอาคารเดียวกันความมั่นคงในการควบคุมและรักษาความปลอดภัยถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีตามประเทศ ในแถบยุโรป มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการจัดการ เช่น การใช้ Housing Control Center ควบคุมการเปิดปิดประตูอัตโนมัติ การใช้ระบบ Barcode สายรัดข้อมือของผู้ต้องขัง เป็นต้น
ภายในเรือนนอนของผู้ต้องขังมีที่อาบน้ำและส้วม มีของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น ประกอบด้วย ผ้าห่มถังน้ำพลาสติก แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ช้อน และเสื้อผ้า ใน 1 เรือนนอนมีทั้งหมด2 ชั้น แต่ละชั้นมี 19 ห้อง ห้องหนึ่งสามารถ อยู่ได้สูงสุด3 คน มีโทรทัศน์ที่ถูกตั้งโปรแกรมรายการต่างๆ ไว้ตามความเหมาะสม เช่น สารคดี ข่าวที่ช้ากว่าภายนอก1 สัปดาห์ มีห้องสำหรับเยี่ยมญาติผ่าน VDOconferenceโดยผู้ต้องขังมีสิทธิ์เยี่ยมญาติได้เดือนละ 2 ครั้ง ผ่าน VDOconference 1 ครั้ง และแบบพบหน้า1ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีผู้ต้องขังมีเวลาออกจากเรือนนอนเพื่อพักผ่อนได้วันละ 1 ชั่วโมง โดยบริเวณที่ให้ผู้ต้องขังพักผ่อนเป็นลานกีฬากว้างๆ มีหลังคาเป็นกรงเหล็กแสงแดดสามารถส่องผ่านได้ และอากาศถ่ายเทสะดวก
รือนจำเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยใน Changi Prison Complex มีโรงงานผลิตขนมปังโดยฝีมืผู้ต้องขังซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของSCORE เป็นโรงงานที่มีเครื่องมือในการผลิตที่ครบครัน สะอาดและมีการรักษามาตรฐานเป็นอย่างดีSCOREจัดหลักสูตรการทำขนมปังให้แก่ผู้ต้องขัง โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการทำขนมปังเข้ามาสอนโดยตรง หลังจากจบหลักสูตรผู้ต้องขังจะได้รับใบรับรองSingapore Workforce Skills Qualification ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสมัครงานหลังจากพ้นโทษ ขนมปังจากโรงงานในเรือนจำแห่งนี้ถูกผลิตขึ้นตลอด 365 วัน มีเจ้าหน้าที่จาก SCORE 1 คน เข้ามาควบคุมมาตราฐานการผลิตในทุกวัน ขนมปังที่ผลิตได้จะถูกส่งออกไปยังโรงแรมสายการบิน บริษัทจัดเลี้ยง ร้านอาหาร และร้านขนมหลายแห่งในประเทศสิงคโปร์ นอกจากโรงงานขนมปังแล้วยังมีโรงซักรีดที่ทันสมัย รับซักรีดให้กับโรงแรมต่างๆในสิงคโปร์มากมาย รวมทั้งยังมีโรงงานขนาดย่อยๆ หลายแห่งซึ่งจัดการโดยเอกชนภายนอกที่เข้ามาจัดตั้งโรงงานในเรือนจำเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขัง ได้ฝึกอาชีพและเมื่อพ้นโทษผู้ต้องขังสามารถออกไปทำงานกับโรงงานเหล่านี้ได้
โปรแกรมการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยของเรือนจำในสิงคโปร์ มีทั้งโปรแกรมพื้นฐานสำหรับนักโทษทุกคนเช่น โปรแกรมการศึกษา โปรแกรมการฝึกอาชีพ โปรแกรมการฝึกทักษะในการทำงานโปรแกรมพัฒนาพฤตินิสัย นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมเฉพาะของแต่ละบุคคลโดยปรับตามปัจจัยต่างๆ ทั้งฐานความผิด จำนวนโทษ หรือตามความต้องการของผู้ต้องขัง ตัวอย่างโปรแกรมเฉพาะ เช่น โปรแกรมเตรียมความพร้อม 10 เดือนสำหรับนักโทษ ที่มีระดับความเสี่ยงสูง โปรแกรมบำบัดสำหรับผู้ต้องขังยาเสพติด เป็นต้น
Singapore Corporation of Rehabilitative Enterprises (SCORE)
การที่เรือนจำของสิงคโปร์มีการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังที่ก้าวหน้าและเป็นระบบ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานภายนอกเรือนจำ ตลอดจนมีการทำงานของผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นระบบอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพนั้นสืบเนื่องมาจากสิงคโปร์มีการจัดตั้งหน่วยงานSingapore Corporation of Rehabilitative Enterprises(SCORE)ทำหน้าที่เช่นเดียวกับสำนักพัฒนาพฤตินิสัยของราชทัณฑ์ไทย แต่มีความคล่องตัวเนื่องจากถูกแยกตัวออกมาเป็นอิสระ ดำเนินการแบบกึ่งราชการกึ่งเอกชนมีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยภาครัฐภาคเอกชน บริษัทและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยในการส่งเสริมการฝึกวิชาชีพและการหาตลาดแรงงานให้กับผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ
SCORE เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งขึ้นในปี 1976โดยมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมด้านการประกอบอาชีพของผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว ในสังคมภายนอกและไม่กลับมากระทำผิดซ้ำอีก SCOREใช้วิธีการหลากหลายรูปแบบในการบูรณาการเพื่อบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังโดยมุ่งเน้นไปที่การฝึกอบรมด้วยโปรแกรมการทำงานต่างๆหลักการสำคัญของSCORE ในการช่วยเหลือ ผู้ต้องขังให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ คือการฝึกอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมการเตรียมตลาดงานเพื่อรองรับ และการสร้างความยั่งยืนในการทำงานSCORE ได้จัดตั้งศูนย์ Case Management Services เพื่อช่วยดูแลการจ้างงานของผู้ต้องขังใน 6 เดือนแรกหลังปล่อยตัว อีกทั้งช่วยจัดสรรงานให้ตรงตามความสามารถและความเหมาะสม ของผู้ต้องขัง ผ่านการจำแนกโดยการประเมินด้วยแบบทดสอบของ SCOREมีบริการแนะแนวอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังในการเข้าทำงาน มีหน่วยช่วยเหลือในการหางาน รวมทั้งพัฒนาทักษะงานระยะยาวเพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่กับงานนั้นๆ ได้เป็นระยะเวลานาน มีบริษัทมากมายกว่า 4,000 แห่ง ที่ยินดีรับผู้พ้นโทษเข้าทำงานโดยให้ค่าแรงตามที่กฎหมายระบุ
ก่อนที่ผู้ต้องขังจะเข้าสู่ตลาดงานหลังจากพ้นโทษ SCOREได้จัดโปรมแกรมเตรียมความพร้อม ทั้งโปรแกรมฝึกอาชีพเฉพาะด้าน เช่น การทำขนม การทำอาหารเบื้องต้น การจัดสวน การซักรีดเสื้อผ้าหรือการปฏิบัติงานด้านโลจิสติก โปรแกรมฝึกทักษะทั่วไปที่จำเป็น เช่นทักษะการอ่าน การเขียนหรือทักษะการหางาน รวมทั้งโปรแกรมการทำงาน ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนส่วนแรกคือ ส่วนบริหารธุรกิจจัดการโดย SCOREโดยมีเจ้าหน้าที่จากSCORE เข้ามาควบคุมการผลิตและคุณภาพสินค้าก่อนนำส่งลูกค้า เช่น การผลิตอาหารกล่องฮาลาล เบเกอรี่ เป็นต้น และส่วนที่สองคือส่วนการฝึกงานจากบริษัทภายนอก
Community Action for the Rehabilitation of Ex-Offenders (CARE) Network
ในการส่งผู้ต้องขังกลับสู่สังคมโดยไม่ให้พวกเขากลับมากระทำผิดซ้ำอีกนั้นนอกเหนือจาก SCORE ที่ทำ หน้าที่ในการฝึกวิชาชีพและเชื่อมต่อกับตลาดแรงงานภายนอกแล้ว ยังมีการจัดตั้งCommunity Action for the Rehabilitation of Ex-Offenders (CARE) Networkหรือเครือยข่าย CARE ขึ้น ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุน
เครือข่าย CARE เริ่มดำเนินการในปี 2000 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ต้องขังในสิงคโปร์ มุ่งเน้นในเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและสร้างความยืดหยุ่นในการจัดการชีวิตของผู้ต้องขัง สนับสนุนผู้ต้องขังและครอบครัวให้มีโอกาสครั้งที่สองในการดำเนินชีวิตต่อไปโดยเป็นการผนึกกำลังและการร่วมมือกันของเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในประเทศ 9 ฝ่าย ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัว, กรมราชทัณฑ์สิงคโปร์,SCORE, National Council of Social Service, Industrial and Services Co-operative Society Ltd, Singapore Anti-Narcotics Association, Singapore After-Care Association และ Yellow RibbonProjectการผนึกกำลังของเครือข่ายจากฝ่ายต่างๆ นี้ ทำให้เกิดพลังของการร่วมมือและสนับสนุนผู้ต้องขังได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งธนาคารตำแหน่งงาน (Job Bank)ที่สามารถจัดสรรงานในตำแหน่งต่างๆในบริษัทหรือห้างร้านให้กับผู้พ้นโทษ โดยที่ผู้พ้นโทษไม่ต้องไปตระเวนหางานที่ใดขอเพียงมีความกล้าที่จะเปิดเผยตัวเองและตั้งใจปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งประเด็นนี้มักจะเป็นปัญหาสำหรับผู้พ้นโทษเพราะโดยทั่วไปที่จะมี Stigma หรือมลทินเป็นตราบาป กลัวสังคมรังเกียจว่าเป็นคนขี้คุกขี้ตะรางหรือกลัวสังคมจะไม่ยอมรับ ซึ่งด้วยเหตุนี้สิงคโปร์จึงได้จัดตั้งโครงการ Yellow Ribbon ขึ้นมาเพื่อรองรับ
Yellow Ribbon Project
โครงการ Yellow Ribbon หนึ่งในพันธมิตรของเครือยข่าย CAREเริ่มดำเนินการในปี 2004 เป็นโครงการที่พยายามทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างการยอมรับและการตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการให้โอกาสผู้พ้นโทษและครอบครัวในการกลับมาใช้ชีวิตในสังคมภายนอก ด้วยการสร้างพลังของชุมชนผ่านโครงการต่างๆ โดยมีเครือยข่ายCARE เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนโครงการ
แรงบันดาลใจสำหรับโครงการนี้มาจากเพลงTie a Yellow Ribbon Round the Old Oak Tree ซึ่งเป็นการผูกโบว์สีเหลืองไว้ที่ต้นโอ๊กเพื่อตอบรับการกลับบ้านของทหารผ่านศึก แสดงถึงการยอมรับและไม่รังเกียจ จากสังคม เช่นเดียวกับโครงการนี้ที่ต้องการสื่อให้ผู้พ้นโทษทราบว่าสังคมยังให้การตอบรับและพร้อมจะให้อภัย ผู้พ้นโทษเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองด้านลบของคนในสังคมที่มีต่อผู้พ้นโทษกระตุ้น และผลักดันให้เกิดความร่วมมือในสังคมเพื่อปลดล็อกความกลัวการไม่ยอมรับจากสังคมของผู้พ้นโทษ ไม่ให้สังคมต้องกลายเป็นคุกที่สองสำหรับพวกเขา
โครงการ Yellow Ribbon มีการรณรงค์ใหญ่ทุกปีโดยมีทั้งประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของประเทศเข้าร่วมรณรงค์ด้วย มีการจัดวิ่งมาราธอนประจำปีและการระดมทุนต่างๆมากมาย ทำให้โครงการนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการรับรู้ของคนในสังคมและมีส่วนในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคน ในสังคมต่อการให้โอกาสและยอมรับผู้พ้นโทษโครงการ Yellow Ribbon ของสิงคโปร์นั้น ถูกนำไปเป็นแบบอย่าง พร้อมทั้งได้รับการยอมรับและยกย่องในหลายประเทศ แม้แต่ในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติก็ได้มีการกล่าวถึงโครงการนี้
บ้านกึ่งวิถี (Halfway House)
บ้านกึ่งวิถีในสิงคโปร์ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 อยู่ภายใต้การดูแลของกรมสวัสดิการสังคมของสิงคโปร์ เป็นสถานที่ช่วยเหลือและเตรียมความพร้อมผู้พ้นโทษที่ยังไม่สามารถกลับสู่สังคมได้ มีทั้งผู้พ้นโทษที่ไม่มีบ้าน ครอบครัวญาติ หรือสถานที่ให้กลับไป และเปิดรับผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษที่ได้รับการคัดเลือกให้สามารเข้ามาทดลองใช้ชีวิตเพื่อปรับตัวทั้งในด้านการทำงาน การออกไปอยู่กับสภาพแวดล้อมและสังคมภายนอกก่อนที่พวกเขา จะได้รับการปล่อยตัวบ้านกึ่งวิถีไม่ได้รับเฉพาะผู้กระทำผิดเท่านั้น ยังเปิดรับคนเร่ร่อนที่ไม่มีที่ไปอีกด้วย โดยสมาชิกทุกคนที่เข้ามาอยู่ในบ้านกึ่งวิถี จะต้องเข้าโปรแกรมการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยใน 6 เดือนแรก นั่นคือโปรแกรมการฟื้นฟูขั้นพื้นฐาน HSM (Basic HSM rehabilitation Program)ซึ่งออกแบบโดยราชทัณฑ์สิงคโปร์ ในปี 2010 เป็นโปรแกรมที่ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ฝึกวินัยและความรับผิดชอบในการทำงานโดยขณะนี้โปรแกรมการฟื้นฟูขั้นพื้นฐานHSM ได้ถูกทดลองใช้ในบ้านกึ่งวิถีทั่วประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีทั้งหมด 8 แห่งได้แก่Breakthrough Missions, Green Haven, HEB-Ahram Halfway House, Jamiyah Halfway House (DarulIslah), Pertapis Halfway House, Teen Challenge, The Turning Point และ The Helping Hand
บ้านกึ่งวิถี Helping Hand
ตัวอย่างหนึ่งของบ้านกึ่งวิถีในสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 ในฐานะ Christian Halfway House ที่ช่วยฟื้นฟู ผู้พ้นโทษในคดียาเสพติด ปัจจุบันHelping Hand เปิดรับผู้พ้นโทษชายและผู้ต้องขังชายที่ใกล้พ้นโทษ โดยสามารถรองรับสมาชิกได้ 110 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้พ้นโทษที่ไม่มีบ้าน ครอบครัว ญาติ หรือสถานที่ให้กลับไปครึ่งหนึ่งของ ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี้มีอายุมากกว่า 30 ปี Helping Hand ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้พ้นโทษและผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ ให้สามารถกลับสู่สังคมได้โดยหยึดหลักธรรมของศาสนาคริสต์เป็นวิสัยทัศน์ในการดำเนินการ ทุกคนที่เข้ามาอยู่จะต้องเข้าสู่โปรแกรมการฟื้นฟูขั้นพื้นฐาน HSM (Basic HSM rehabilitation Program) ในช่วง 6 เดือนแรก และต่อด้วยโปรแกรมการบำบัดเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตภายนอก โดยจัดสรรโปรแกรมตามความเหมาะสม ของแต่ละบุคคล เช่น
เมื่อจบโปรแกรมต่างๆ ที่จัดไว้ ทุกคนสามารถทดลองออกไปทำงานภายนอกได้ และยังมีสิทธิ์กลับบ้านในวันอาทิตย์แต่มีข้อห้ามไม่ให้เสพสารเสพติด ดื่มสุรา และสูบบุหรี่ หากตรวจพบว่ามีการกระทำดังกล่าวจะถูกไล่ออกหรือส่งกลับไปยังเรือนจำทันที
เงินทุนที่ Helping Hand ใช้ในการดำเนินการ นอกจากได้รับจากรัฐบาลและการรับบริจาคแล้วHelping Hand ยังสร้างรายได้เพิ่มด้วยการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน รวมทั้งเปิดบริการรับจ้างขนย้าของและมีร้านขายอุปกรณ์ตกปลาชื่อว่า Big Fish อีกด้วย
บทสรุป
ประเทศสิงคโปร์มีระบบการส่งตัวผู้ต้องขังคืนสู่สังคมที่เกิดจากการเชื่อมโยงความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วนในสังคม ก่อให้เกิดเครือข่ายของการดำเนินการส่งตัวผู้ต้องขังคืนสู่สังคมที่สมบรูณ์ขนาดใหญ่โดยมีกรมราชทัณฑ์สิงคโปร์เป็นเสาหลักสำคัญในการเชื่อมโยงเครือยข่ายความร่วมมือนี้ นับตั้งแต่การควบคุมบริหารจัดการเรือนจำที่ทำหน้าฟื้นฟูและดูแลผู้ต้องขังให้กลับมาเป็นคนดีผ่านโปรแกรมพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ เชื่อมโยงหน่วยงาน Singapore Corporation of Rehabilitative Enterprises (SCORE) ให้เข้ามาช่วยสร้างทักษะ ความรู้ และโอกาสในการประกอบอาชีพสุจริตแก่ผู้ต้องขังหลังจากพ้นโทษ สนับสนุนโครงการ Yellow Ribbon ที่ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองของคนในสังคมที่มีต่อผู้พ้นโทษและครอบครัวเพื่อสร้างสะพานแห่งการยอมรับและการให้โอกาสแก่ผู้พ้นโทษนอกจากนี้ยังมีเครือยข่ายที่สำคัญCommunity Action for the Rehabilitation of Ex-Offenders (CARE) Networkค่อยสนับสนุนระบบการส่งตัวผู้ต้องขังคืนสู่สังคมให้เกิด ความมั่นคงและเข้มแข็ง รวมทั้งบ้านกึ่งวิถีHalfway House ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้พ้นโทษให้พร้อม และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในโลกภายนอกได้อีกครั้ง มีหลายประเทศนำระบบการดำเนินการส่งตัวผู้ต้องขังของสิงคโปร์ไปเป็นแบบอย่าง และมีหลายโครงการที่ได้รับรางวัลและคำชมเชยจากเวทีระดับโลก ทั้งหมดนี้นับได้ว่าเป็นความสำเร็จก้าวใหญ่ที่สำคัญของราชทัณฑ์สิงคโปร์
บรรณานุกรม
“Singapore Prison service” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.sps.gov.sg สืบค้น 1 พฤษภาคม 2561.
“Singapore Corporation of Rehabilitative Enterprises” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.score.gov.sg สืบค้น 1 พฤษภาคม 2561.
“Community Action for the Rehabilitation of Ex-Offenders (CARE) Network” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.score.gov.sgสืบค้น 1 พฤษภาคม 2561.
“Yellow RibbonProject” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.yellowribbon.org.sgสืบค้น 1 พฤษภาคม 2561.
“The Helping Hand” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://thehelpinghand.org.sgสืบค้น 1 พฤษภาคม 2561.
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย. ประเทศสิงคโปร์. ใน รายงานการศึกษาวิจัยเรื่องการเปรียบเทียบการปฏิบัติ ต่อผู้กระทำผิดในและนอกเรือนจำของกลุ่มประเทศอาเซีย. หน้า 8-1 ถึง 8-26.
Thailand Institute of Justice. Overview of the community – based treatment system for drug users and drug offenders Singapore.Pages123-139. 2017.
H O M E
A B O U T
O U R T E A M
Nathee Chitsawang
Copyright 2016 | All Rights Reserved.