บทความ

Hate Crimes: อาชญากรรมแห่งอคติในสังคมพลวัต

โดย นางสาวลดาวัลย์ ใยมณี (608 13650 24)

 ที่มาและความสำคัญ

 

      ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี รสนิยมทางเพศ หรือความเชื่อที่แตกต่าง แต่กระนั้นในสังคมที่เสมือนหนึ่งกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงนั้น กลับมีอาชญากรรมบางประเภทที่ยึดโยงเกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณและทัศนคติของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังมีแต่จะยิ่งแพร่ขยายลุกลามและคุกคามเสถียรภาพของการเมืองเศรษฐกิจของนานาประเทศ อาชญากรรมนั้นก็คือ Hate Crimes หรือที่เรียกว่าอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง

 

       Hate Crimes นั้นเป็นอาชญากรรมที่แตกต่างจากอาชญากรรมปกติเนื่องจากอาชญากรรมทั่วไป ผู้กระทำหรืออาชญากรมักมีแรงจูงใจอยู่ที่เหยื่อ หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ แต่ Hate Crimes แม้จะแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวว่า “อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง” แต่ในความเป็นจริงมูลเหตุจูงใจของอาชญากรรมประเภทนี้กลับไม่ใช่ความเกลียด  แต่คือ “อคติ” บางครั้งจึงเรียกอาชญากรรมประเภทนี้ว่า Bias-motivated Crimes ซึ่งอคตินี้ไม่ได้มีต่อเหยื่อคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่มุ่งเน้นไปที่เอกลักษณ์บางประการของกลุ่มคน หรือ Stereotypes เช่น ความแตกต่างของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ ความเป็นชนกลุ่มน้อย ความโน้มเอียงทางเพศ ความพิการ ความเชื่อทางการเมือง ชนชั้น หรือสถานะทางสังคม เป็นต้น

 

       ในประเทศไทยนั้นมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของ Hate Crimes น้อยมาก ด้วยความเชื่อว่าคนไทยเป็นคนใจกว้างและเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง สังคมไทยนั้นมีข่าวอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องและหมิ่นเหม่ต่อการตีความว่าเป็น Hate Crimes หรือไม่จำนวนมาก อาทิ ข่าวนักเรียนอาชีวศึกษายกพวกตีกัน ข่าวฆาตกรรมบุคคลในกลุ่มเพศทางเลือก เช่น กลุ่มเลสเบี้ยน การโจมตีด่าทอเสียดสีบุคคลที่มีทัศนคติต่างกัน การจำแนกบุคคลด้วยสีเสื้อเพื่อเงื่อนแง่ผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นต้น อีกทั้งสื่อมวลชนในประเทศก็ไม่มีความรู้ในเรื่องของอาชญากรรมประเภทนี้ หลายครั้งที่สื่อมวลชนไม่เข้าใจความหมายและไม่รู้ตัวว่าสื่อของตนเองกำลังสร้างวาทกรรมที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือที่เรียกว่า Hate Speech โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กฎหมายไทยนั้นไม่มีการระบุความรับผิดเกี่ยวกับ Hate Crimes จนทำให้เกิดข้อกังขาว่าแท้ที่จริงประเทศไทยนั้นไม่มี Hate Crimes หรือเพียงแต่เราไม่ใส่ใจที่จะพิจารณาพิเคราะห์สังคมไทยให้ลึกซึ้งกันแน่

 

     ในบทความนี้จะศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของ Hate Crimes โดยไม่แปลคำศัพท์เป็นภาษาไทยเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในความคิดรวบยอดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมประเภทนี้ และศึกษากระบวนการสร้างอคติให้เกิดขึ้นในตัวบุคคลโดยใช้ทฤษฎีการคบหาสมาคมที่แตกต่างกัน และทฤษฎีกดดันของ Robert Agnew โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ในประเทศไทยและในต่างประเทศประกอบ และให้ความเห็นว่าสมควรจะมีการบัญญัติอาชญากรรมประเภทนี้ให้มีความผิดตามกฎหมายอาญาตามแนวทางของทฤษฎีป้องกันหรือไม่

 

Hate Crimes คืออะไร

 

     นัทธี จิตสว่าง ให้ความหมายว่า Hate Crimes นั้นหมายถึง “การกระทำผิดทางอาญา ที่ผู้กระทำมีมูลเหตุจูงใจมาจากอคติ หรือความเกลียดชังต่อคนกลุ่มหนึ่งที่มีเอกลักษณ์บางอย่างแตกต่างไปจากตนทางด้านศาสนา เชื้อชาติ ภาษา ผิวสี และรสนิยมทางเพศ”  ในขณะที่ The Crown Prosecution Service: CPS ของประเทศอังกฤษให้ความหมายของ Hate Crimes ว่าหมายถึง พฤติกรรมอันเกิดจากแรงจูงใจที่มีความมุ่งร้าย มีความเป็นศัตรู (Hostility) ต่อเหยื่อที่เป็นคนพิการ ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ หรือสิ่งที่เรียกเป็นว่าอัตลักษณ์ของบุคคล โดยการปกป้องผู้คนจาก Hate Crimes หรืออาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชังนี้ รวมถึงการปกป้องจากการที่เหยื่อถูกใช้ถ้อยคำในการล่วงละเมิด การข่มขู่ การก่อกวน การรังควาน การล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มเหงรังแก (Bullying) การทำให้สูญเสียทรัพย์  ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า Hate Crimes นั้นเป็นอาชญากรรมที่มีแรงจูงใจมาจากอัตลักษณ์ของบุคคล หาใช่มีแรงจูงใจมาจากตัวบุคคลไม่ แม้ไม่เคยรู้จักพบพานกันมาก่อน เพียงแต่บุคคลที่เป็นเหยื่อถูกจัดอยู่ในกลุ่มของผู้มีอัตลักษณ์แบบเดียวกัน ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อแล้ว

 

ความร้ายแรงของ Hate Crimes

 

    ก่อนจะกล่าวถึงสังคมไทย การศึกษาให้เห็นภาพของ Hate Crimes ควรเริ่มจากสังคมประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยสุดโต่งอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะเป็นประเทศที่ยึดถือในเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็ยังมีการบัญญัติกฎหมายควบคุม Hate Crimes ในปี 2558 จากการรายงานของ Center for the Study of Hate & Extremism จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (California State University, San Bernardino) อ้างอิงข้อมูลเหตุรุนแรงที่มีแรงจูงใจจาก “ความเกลียดชัง” และ “อคติ” ใน 20 รัฐใหญ่ ที่มีประชากรคิดเป็นร้อยละ 54 ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังหรืออคติต่อกลุ่มเพศทางเลือกเกิดขึ้น 601 ครั้ง เกลียดชังบุคคลแปลงเพศ 63 ครั้ง เกลียดมุสลิม 196 ครั้ง เกลียดอาหรับ 67 ครั้ง เกลียดยิว 502 ครั้ง เกลียดคนละติน 197 เกลียดคนดำ 1,103 ครั้ง เกลียดคนขาว 416 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 4,347 ครั้ง  แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของ Hate Crimes ว่าหาได้เป็นเพียงอาชญากรรมสามัญเท่านั้น แต่ถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและสร้างความเสียหายในสังคมของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่แพ้อาชญากรรมพื้นฐานในประเภทอื่น

 

    การทำความเข้าใจ Hate Crimes นั้นควรเริ่มจากความเข้าใจว่าลำพัง “อคติ” หาได้เป็นอาชญากรรมไม่ เนื่องจากมนุษย์ทุกคนต่างมีอคติส่วนบุคคล แต่เมื่อมนุษย์แสดงออกออกเป็น “การกระทำ” ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาทั่วโลก โดยการแสดงออกอาจเป็นไปในลักษณะทำร้ายบุคคลอื่นทางกายภาพหรือทำลายทรัพย์สินของเหยื่อ เมื่อมีการกระทำจึงเกิดอาชญากรรม ทว่า เช่นนั้นแล้วอะไรคือสาเหตุที่กระตุ้นให้บุคคลเกิดความคิดที่จะแสดงออกซึ่งความเกลียดชังหรือไม่พอใจออกมา

 

    คำตอบของคำถามนั้นควรพิจารณาจากสภาพแวดล้อมรอบตัว เนื่องจากทุกคนทราบกันดีว่า อาชญากรรมพื้นฐานที่สุดไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายหรือการฆาตกรรม อาจมีพื้นฐานมาจากความไม่พอใจกันเล็กๆน้อยๆและอาจค่อยงอกเงยไปถึงจุดที่เกิดการระเบิดออกมาเป็นการกระทำ โดยอาจเกิดกับคู่กรณีไม่ว่าจะเป็นตัวผู้กระทำความผิดหรือเหยื่อก็ตาม การแสดงออกที่ชัดเจนและง่ายดายที่สุดได้แก่ คำพูด หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ อคติและความไม่พอใจที่พรั่งพรูออกมาเช่นนี้ เรียกกันว่า Hate Speech และ เมื่อมีการแสดงออกถึงความรุนแรงผ่านสื่อหรือสภาพแวดล้อมก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่ Hate Crimes ได้

 

   แต่หากอ้างอิงคำนิยมของ CPS ดังกล่าว คำพูดที่มีลักษณะเป็น Hate Speech ก็อาจเป็น Hate Crimes ในตัวของมันเองได้เช่นกันหากว่าเข้าองค์ประกอบความผิด และถือเป็น Verbal Abuse แต่อย่างไรก็ตามในบทความนี้จะถือว่า Hate Speech เป็นเพียงปัจจัยที่ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงเท่านั้น

 

   Hate Speech นั้นมิได้หมายความถึงเพียงเฉพาะคำพูด แต่ชาญชัย ชัยสุขโกศล จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความหมายว่ากินความทั้งเรื่องของคำพูดและการปฏิบัติด้วย และ Hate Speech “เป็นการแสดงออกทั้งทางคำพูด ข้อเขียน และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อื่นๆที่มุ่งโจมตี ประจาน สบประมาท หรือข่มขู่ ผู้ถูกกล่าวถึงอย่างร้ายแรง ถึงขั้นที่ประหนึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำร้ายหรือก่อภยันตรายต่อผู้ที่ถูกกล่าวถึงได้” จากคำจำกัดความนี้ Hate Speech นั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์นั้นเป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง การพูดวิจารณ์แสดงความคิดเห็นแม้จะแฝงอคติยังไม่ใช่ Hate Speech ตามความหมายนี้

 

   ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ มีหลายครั้งที่ “คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง” หรือที่เรียกว่า Hate Speech สร้างความหายนะให้แก่สังคม ไม่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง ชนชาติใดชนชาติหนึ่ง แต่คือสังคมของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อดอฟ ฮิตเลอร์ ใช้อคติและความเกลียดชังของคนเยอรมันต่อชาวยิวเป็นเครื่องมือในการหาเสียง และสามารถขึ้นเป็นผู้นำประเทศ กระทั่งก่อให้เกิดสงครามที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวและความตายของมนุษย์กว่า 60 ล้านคน  ในขณะที่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวตุ๊ดซี่ในประเทศรวันดาก็มาจากการที่มีการใช้วิทยุเป็นเครื่องมือเผยแพร่ยัดเยียดข้อมูลที่จะสร้างความเกลียดชังและความคับแค้นให้เกิดขึ้น จนภายในเวลาเพียงหนึ่งร้อยวันมีคนตายไปถึงประมาณ 800,000 คน

 

ปรากฏการณ์ในสังคมไทย

 

    แม้ประเทศไทยจะไม่มีการบัญญัติ Hate Crimes เป็นอาชญากรรม แต่กระนั้นจากข่าวสารในสังคมและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย สามารถที่จะยกตัวอย่างกรณีศึกษาได้หลายกรณี โดยเริ่มจากอคติที่เกี่ยวข้องกับเพศทางเลือก ซึ่งเคยเป็นข่าวคึกโครมกันในช่วงเดือนมกราคม 2560 และถือว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องความเกลียดชังที่เกิดจากเพศสภาพ ในทุกวันนี้เรามีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย อาทิ หญิงเลสเบี้ยน (lesbian) ชายรักร่วมเพศ (gay) บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์ได้กับทั้งสองเพศ (bisexual) บุคคลข้ามเพศ (transgender) และบุคคลผิดแปลกทางเพศหรือยังคงมีคำถามเกี่ยวกับเพศสภาวะของตนเอง (queer หรือ question) และในยุคปัจจุบันมักเรียกกันโดยรวมว่า เป็นคนใน “เพศทางเลือก”  ในสังคมประชาธิปไตยการเป็นบุคคลเพศทางเลือกเป็นที่ยอมรับและไม่ใช่อาการเจ็บป่วยของจิตอีกต่อไป ทว่า ใช่ว่าอคติของสังคมเกี่ยวกับเพศทางเลือกจะสูญสลาย หากแต่จากกำแพงหนาทึบที่กั้นขวางในอดีต ยามนี้กลับกลายเป็นหมอกควันบางจางสายตาที่แม้ไม่เห็น แต่เรากลับสัมผัสได้

 

    รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ในคดีของ นางสาวสุภัคสรณ์ พลไธสง หรือ หญิง ซึ่งเป็นคดีที่สื่อมวลชนใช้คำว่า “อุ้มฆ่าทอม” ในช่วงแรกของข่าวนั้นมีการโหมข่าวในลักษณะที่ว่าการลักพาตัวนางสาวสุภัคสรณ์นั้นเป็นเพราะความเกลียดชังในอัตลักษ์ทางเพศที่นางสาวสุภัคสรณ์เป็นทอม ในขณะเดียวกันก็มีการตำหนิสื่อเกี่ยวกับถ้อยคำที่สื่อเลือกใช้ในพาดหัวข่าวว่าการเรียกบุคคลว่า “ทอม” แสดงถึงการมีอคติทางเพศและการไม่ยอมรับในอัตลักษณ์ของบุคคล แต่ที่น่าตกใจก็คือหลังจากมีการจัดสัมมนา กลับพบข้อเท็จจริงว่าในประเทศไทยกลับมีคดีที่เกิดการลักพาและฆ่าหญิงที่มีอัตลักษณ์เป็นเพศเป็นชายกว่า 14 คดี ในช่วง 10 ปีที่ ผ่านมา ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หากมีหญิงที่มีลักษณะเป็นชายหรือทอม ก็จะนำไปสู่การอับอายของครอบครัว และยึดโยงไปสู่การข่มขืนเพื่อสนองตอบวาทกรรม “แก้ทอมซ่อมดี้”

 

    รศ.ดร.กฤตยา ให้ความเห็นไว้ในงานสัมมนา “อุ้ม ซ้อม ทรมาน ฆาตกรรม : อาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อ “‘ทอม’ และความหลากหลายทางเพศ” ว่าไม่เพียงประเทศไทย แต่วาทกรรมลักษณะ “แก้ทอมซ่อมดี้” ยังเป็นวาทกรรมที่แพร่หลายในสังคมตะวันตกด้วย มาจากค่านิยมที่ยึดถือเป็นเพศสภาพชายเป็นใหญ่  ในประเทศไทยก็ยังเรียกอวัยวะเพศชายว่าเจ้าโลก ซึ่งนำไปสู่ความคิดที่ผิดเพี้ยนในการกำหนดค่านิยมทางเพศ

 

   หากพิเคราะห์ให้เข้าใจบริบทของสังคมไทยที่มีต่อการยอมรับเพศสภาพก็สามารถพิจารณาได้จากสื่ออาทิ ละครเรื่องรักกันพัลวัน ซึ่งนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับตัวเอกซึ่งเป็นทอมพยายามจะกลับเป็นผู้หญิง และเกิดวาทกรรมในเรื่องว่า “ทอมอย่างเธอต้องเจอผู้ชายอย่างฉัน” ซึ่งสะท้อนค่านิยมของทั้งนักเขียน ผู้จัดละคร นักแสดง หรือกระทั่งคนในสังคม ที่แสดงว่าเห็นการคุกคามทางเพศและการปฏิเสธอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลอื่นเป็นเรื่องตลกขบขัน ไม่ต่างอะไรกับกรณีที่ชายชาวมุสลิมข่มขืนสตรีมุสลิมที่มีลักษณะรสนิยมทางเพศอย่างผู้ชาย เพื่อต้องการให้กลับเป็นผู้หญิงตามแบบแผนของค่านิยม หากวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งข้อความดังกล่าวมีองค์ประกอบของ Hate Speech ที่ครบถ้วน เพราะแสดงออกถึงการข่มขู่ด้วยอคติทางเพศและมีเป้าหมายต้องการใช้ความรุนแรงซึ่งอาจเป็นในลักษณะการทำร้ายร่างกายหรือการลวนลามทางเพศ

 

   ในขณะที่เกย์ หรือกะเทย แม้สังคมไทยเหมือนมีแนวโน้มว่าจะสามารถยอมรับได้อย่างเปิดกว้างมากกว่า แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะแม้ในสังคมในเครือข่ายออนไลน์อย่างเฟสบุ๊คก็มีข้อความประณามในลักษณะว่า “พวกสายเหลือง” “พวกขุดทอง” แม้แต่สื่อก็ยังใช้ถ้อยคำและคำพูดในลักษณะประณามรสนิยมทางเพศอาทิ “จับหนุ่มหล่อฆ่า ‘กะเทย’ ยัดศพใส่กระเป๋าอำพราง”  ซึ่งการใช้ถ้อยลักษณะนี้ไม่ได้ต่างกับในข่าวของนางสาวสุภัคสรณ์แต่อย่างใด ลักษณะเช่นนี้ย่อมสื่อความได้ว่าในประเทศไทยเองอคติที่มีต่อเพศทางเลือกก็เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ เพียงแต่ไม่ชัดเจนเท่านั้น แม้ถ้อยคำเช่นนี้จะยังไม่เข้าข่ายเป็น Hate Speech แต่ก็ถือว่าสะท้อนให้เห็นลักษณะเนื้อแท้ของสังคมและสื่อประเภทต่างๆได้อย่างดี

 

   ข่าวอีกประเภทที่สังคมไทยรู้จักและรับทราบกันดีแต่ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของอาชญากรรมก็คือข่าวนักเรียนนักศึกษายกพวกตีกัน ขอยกตัวอย่างข่าวเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 เจ้าหน้าที่สายตรวจของสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงได้รับแจ้งเหตุทะเลาะวิวาทจึงรีบไปตรวจสอบยังที่เกิดเหตุ พบว่าเป็นนักเรียนของโรงเรียนปทุมคงคากับโรงเรียนเทคโนโลยีกรุงเทพช่าง กำลังก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน บริเวณปากซอยสุขุมวิท 77 โดย  พลตำรวจโทศานิตย์ มหถาวร อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เคยให้สัมภาษณ์ในขณะนั้นไว้ว่า “ปัญหาเรื่องนักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาท ยกพวกตีกันนั้นส่วนมากสาเหตุไม่ได้เกิดจากความแค้นส่วนตัว แต่จะเป็นเรื่องที่มาจากสถาบัน การแต่งกาย เมื่อเห็นการแต่งกายของโรงเรียนคู่อริก็จะลงมือก่อเหตุทันที โดยไม่คำนึงว่าเป็นใคร และเพื่อให้ได้รับการยอมรับในหมู่เพื่อนและรุ่นพี่ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการป้องกันและปราบปราม” และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 มีเหตุนักเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงธนและวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธารามยกพวกตีกัน และมีการใช้ระเบิดจนมีคนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งนี่เป็นเพียงกรณีตัวอย่าง หากจะหาตัวอย่างอาชญากรรมในลักษณะนี้ในสังคมไทยเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายดายและมักปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวันบ่อยครั้ง โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐและสื่อมวลชนมุ่งประเด็นไปที่ความขัดแย้งระหว่างเยาวชน ทั้งที่หากพิจารณาตามคำกล่าวของอดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลข้างต้นแล้วจะเห็นว่าลักษณะการประกอบอาชญากรรมนั้นใกล้เคียงกับองค์ประกอบความผิดของ Hate Crimes อย่างยิ่ง

 

    หากขยายกรอบการศึกษา ในสมาคมอาเซียนในภูมิภาคเอเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีปัญหาจาก Hate Crimes เช่นกัน อาทิ ปัญหาชาวโรฮีนจา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งแม้ว่าในมุมมองหนึ่งจะเป็นปัญหาขัดแย้งที่มาจากเชื้อชาติ ศาสนา และการเมือง แต่เมื่อมองอย่างเข้าใจ จะเห็นว่าปัญหานี้มาจากเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ไม่เพียงทัศนคติที่ชาวเมียนมามีต่อชาวโรฮีนจา แต่เป็นที่ชาวโรฮีนจามีต่อชาวเมียนมาด้วย ในรัฐยะไข่ของประเทศเมียนมา ไม่เพียงชาวเมียนมาที่สังหารชาวโรฮีนจา แต่ชาวโรฮีนจาก็มีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยความรุนแรงเช่นกัน เรียกได้ว่าต่างปฏิบัติโต้ตอบกันด้วยความรุนแรง เพียงแต่ขึ้นอยู่กับฝ่ายใดมีอำนาจเหนือกว่า แต่ความวุ่นวายสับสนที่เกิดขึ้นก็มาจากอคติ และชาวเมียนมาก็มีความเกลียดชังชาวโรฮีนจา เพราะความแตกต่างทางอัตลักษณ์ หรือในประเทศอินโดนีเซีย แม้ไม่มีกฎหมายห้ามรักร่วมเพศ แต่ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมากลับมีการใช้กฎหมายว่าด้วยสิ่งลามกอนาจาร เป็นเครื่องมือใช้เพื่อลงโทษคนที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลเพศเดียวกัน และยังมีการจับกุมบุคคลเพศทางเลือกจำนวนมากให้สารภาพผิดในความผิดฐานขายบริการทางเพศด้วย

 

   นอกจากตัวอย่างข้างต้น ในต่างประเทศยังบัญญัติลักษณะของ Hate Crimes ครอบคลุมไปถึงเรื่องอคติหรือความเกลียดชังต่อการไร้ความสามารถของบุคคลเช่น ความพิการ อายุ ลักษณะอื่นๆเช่น สถานภาพการสมรส การเป็นนักศึกษาสังกัดสถาบัน การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นต้น เมื่อกล่าวถึงเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในประเทศไทยเองก่อนหน้านี้ก็มีการโจมตีกันเป็นสงครามระหว่างสีเสื้อ ไม่ว่าท้ายที่สุดจะเกี่ยวเนื่องกับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดก็ตาม แต่ก็พอจะสามารถอธิบายให้เห็นถึงลักษณะของอาชญากรรมประเภทนี้ได้ ว่าไม่ว่าจะเคยพบหน้ากันมาก่อนหรือไม่ แต่ความเกลียดชังกลับถูกแบ่งแยกจากสีเสื้อ ความนิยมชมชอบในตัวผู้นำทางการเมือง นำไปสู่การชุมนุมประท้วงที่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ การยุแยงให้ทำร้ายร่างกาย ฆ่า ทำลายทรัพย์สิน นำไปสู่การทำลายล้างซึ่งกันและกัน แม้สถานการณ์บ้านเมืองคลับคล้ายว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก็เป็นสิ่งที่ชี้ชัดแล้วว่า “อคติ” นั้นหากได้เกิดขึ้นและมีอยู่แล้วนับเป็นเรื่องอันตรายยิ่ง และจากจุดเริ่มต้นเล็กๆก็อาจลุกลามแพร่กระจายไปในวงกว้าง เสมือนการปาก้อนหินลงในทะเลสาบ แรงกระเพื่อมของน้ำนั้นแพร่ขยายไปได้อย่างไร้ที่สิ้นสุดตามความรุนแรงของมัน

 

เหตุใดจึงเกิดอคติและความเกลียดชัง

 

    เมื่อได้เกิดความตระหนักในภัยอันตรายของ Hate Crimes แล้ว ก็จำต้องวิเคราะห์เกี่ยวกับแรงจูงใจของผู้ประกอบอาชญากรรมประเภทนี้ เหตุใดบุคคลผู้หนึ่งจึงต้องประณามหยามเหยียดเหยื่อและยุยงให้เกิดความรุนแรง ทั้งยังสามารถยุงยงให้เกิดการพุ่งเป้าโจมตีและฆ่าหันขึ้นมาได้ และเหตุใดบุคคลจึงลงมือประกอบอาชญากรรมทั้งที่ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งใดๆกับเหยื่อเป็นการส่วนตัว

 

    ทฤษฎีทางอาชญาวิทยาที่สามารถตอบคำถามนี้ได้ที่ตรงประเด็นที่สุดอาจไม่มี เนื่องจากเรื่องของจิตใจเป็นสิ่งที่ยากจะวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ ทฤษฎีที่จะใช้วิเคราะห์ในบทความนี้คือ ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม ของเกเบรียล เทรด (Gabriel Tarde) ทฤษฎีการคบหาสมาคมที่แตกต่างกัน ของเอ็ดวิน ซัทเธอร์แลนด์ (Sutherland’s Differential Associations Theory)  และ ทฤษฎีกดดันของ โรเบิร์ต แอคนิว (Strain Theory (GST) ของ Robert Agnew)

 

เกเบรียล เทรด ได้สร้างกฎของการลอกเลียนแบบ (Laws of Imitations) ขึ้น ในกฎนี้ว่าด้วยอาชญากรรมนั้นเกิดจากการลอกเลียนแบบ คือบุคคลนั้นจะลอกเลียนแบบบุคคลอื่นเป็นสัดส่วนกับการที่ได้เข้าไปใกล้ชิดต่อบุคคลผู้นั้น และผู้ที่มีลักษณะด้อยกว่าจะเลียนแบบผู้มีอำนาจเหนือกว่า ในขณะที่ ในทฤษฎี    การคบหาสมาคมที่แตกต่างกันนั้น เอ็ดวิน ซัทเธอร์แลนด์ถือว่า พฤติกรรมเกิดจากการเรียนรู้ พฤติกรรมอาชญากรรมเองก็เกิดจากการเรียนรู้ในการคบหากับบุคลที่มีแนวโน้มเป็นอาชญากรรม โดยเรียนรู้ถึงเทคนิคในการกระทำความผิด ทิศทางเฉพาะของแรงดลใจ แรงผลักดัน การใช้เหตุผล ทัศนคติเกี่ยวกับการกระทำผิด  ท้ายที่สุดความเห็นด้วยกับการละเมิดกฎหมายย่อมมีมากกว่าความเห็นด้วยกับการไม่ละเมิด

 

   ทั้งสองทฤษฎีดังกล่าวแม้เดิมทีจะเป็นทฤษฎีที่ใช้สำหรับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนแต่ที่จริงแล้วสามารถนำมาอธิบายเหตุการณ์ได้อย่างกว้างขวาง ในกรณีของเหตุการณ์ที่ประเทศรวันดา หรือสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เพราะตัวบุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และซึมซับความเกลียดชังและเหตุผลในการเกลียดชังเข้ามาตัวเองผ่าน Hate Speech

 

    ในการทำความเข้าใจกระบวนการของการลอกเลียนแบบและการเรียนรู้ที่เกิดจากการคบหาสมาคมนั้น อาจยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและง่ายแก่การเข้าใจได้จากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยที่มีการต่อสู้ทางความคิดที่รุนแรง แต่เมื่อไม่จบที่การอภิปรายหรือพูดจากันโดยใช้ Free Speech ผู้คนกลับพัฒนาไปสู่การใช้ Hate Speech ต่อกันและยั่วยุให้เกิดการทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สิน โดยอาศัยช่องทางของ   การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุและอินเตอร์เนท นอกจากนี้บุคคลยังนำตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมโดยการชุมนุมประท้วงของทั้งสองกลุ่มที่ใช้ระยะเวลายาวนาน เมื่อบุคคลเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกัน เสพข้อมูลข่าวสารในลักษณะเดียวกัน ก็ย่อมต้องกล่อมเกลาความคิดเห็นออกมาในแง่มุมเดียวกัน และต่างฝ่ายต่างไม่รู้สึกว่าการกระทำของตนนั้นผิดพลาดที่ใด หากจะยกตัวอย่างให้แคบลงมาก็คือ กรณีเด็กนักเรียนนักศึกษายกพวกตีกันดังตัวอย่างข้างต้น ที่มีการทำร้ายคนต่างสถาบันถึงขั้นเอาชีวิตเพียงเพราะสวมเสื้อหรือเข็มขัดต่างสถาบัน ซึ่งจากการสัมภาษณ์เด็กจำนวนมากกระทำลงไปเพราะรุ่นพี่ในสถาบันสอนสั่ง อบรม   กล่อมเกลาให้รู้สึกเป็นปฏิปักษ์ นอกจากนี้หากไม่แสดงความเป็นปฏิปักษ์ก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมในสถานศึกษาด้วย

 

   หากมองกลับไปที่ Hate Speech และเรื่องของการใช้สัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเกลียดชังต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น คำพูด โฆษณา สื่อต่างๆ แม้แต่ภาษาท่าทาง จะเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงกระบวนการเรียนรู้และเลียนแบบของบุคคลได้อย่างดี กล่าวคือ เมื่อบุคคลอยู่ในสภาวะแวดล้อมและถูกกล่อมเกลาด้วยสภาวะเช่นนั้นก็ย่อมสร้างอคติให้เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในสังคมออนไลน์ เมื่อบุคคลเกิดความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องใด โดยปกติก็จะใช้ เซิร์สเอนจิ้น (Search Engine) เข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ และเมื่อเจาะลึกข้อมูลลงไปในบล็อก (Blog)  เวปไซต์ (Website) หรือกระดานสนทนา (Webboard) ใดๆก็ยิ่งจมลึกลงไปในข้อมูลทัศนคติทั้งเชิงลบและเชิงบวกขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและพื้นเพประสบการณ์ และหากมีการติดต่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มบุคคลในสังคมออนไลน์ แม้ไม่ต้องพบเห็นตัวจริงของกันและกันแต่ก็ซึมซับทัศนคติเกี่ยวกับความเกลียดชังเข้ามาในจิตใจของตนเองแล้ว ยิ่งในสังคมของกระดานสนทนา ในโลกเสมือนที่ผู้คนนิยมการอ่านอะไรที่สั้น ง่าย และกระชับ ข้อความที่มีลักษณะของการปลุกระดมให้ฮึกเหิม เรียกร้องยอดวิว (review) ย่อมง่ายแก่การเข้าถึงกว่าการอธิบายที่ยืดยาวแต่มีความหมาย จึงเห็นได้ว่าในเวปไซต์หรือแฟนเพจที่มีลักษณะรุมด่าทอ วิพากษ์วิจารณ์เสียดสี สามารถสร้างฐานสมาชิกได้ในเวลาอันรวดเร็ว

 

    จึงกล่าวได้ว่าการเลียนแบบและกระบวนการเรียนรู้จากการคบหาสมาคมที่แตกต่างกันนั้นเป็นวิธีการที่ชัดเจนในการสร้าง Model ความเกลียดชังหรืออคติให้ก่อกำเนิดขึ้นในตัวบุคคล ยิ่งบุคคลนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังประเภทใดก็จะถูกหล่อหลอมพฤติกรรมให้แสดงออกในลักษณะนั้นด้วย แต่ที่น่าวิตกกังวลยิ่งกว่าก็คือ การเลียนแบบและการเรียนรู้นั้นคือการสร้าง Model รูปแบบลงไปถึงจิตสำนึก สร้างความเป็นปฏิปักษ์และไม่อาจแก้ไขด้วยการให้เหตุผลตามปกติเท่านั้น

 

   อย่างไรก็ตามในทฤษฎีการคบหาสมาคมที่แตกต่างกันนั้นมีจุดน่าสนใจอยู่ที่ในองค์ประกอบของกระบวนการการเรียนรู้นั้นแม้อาจแบ่งได้เป็น 9 หัวข้อ แต่ตัวแบบการอธิบายนั้นสรุปได้เป็น 4 ขั้นตอน  คือ

   ในขั้นตอนของการเรียนรู้เนื้อหาสาระนั้นถือว่าสำคัญมาก เพราะไม่ใช่ว่าบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปลุกระดมหรืออยู่ในสังคมของการใช้ Hate Speech จะต้องประกอบอาชญากรรมเสมอไป บุคคลหนึ่งอาจมีอคติ เกลียดชัง หรือโกรธมาก แต่อาจไม่ประกอบอาชญากรรม ในขณะที่บุคคลหนึ่งไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากบุคคลจะประกอบอาชญากรรมได้ย่อมต้องมีความเห็นด้วยกับการกระทำผิดกฎหมายโดยใช้ความรุนแรงกระทำกลุ่มคนที่ตนมีอคติด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยของบุคคลนั้นที่ถูกหล่อหลอมมาอีกชั้นหนึ่ง

 

       ในขณะที่ทฤษฎีกดดันใหม่ หรือ GST ของแอคนิว นำเสนอปัญหาว่าอาชญากรรมนั้นเกิดจากความกดดันของบุคคลที่ไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ของตนเองจนก่อให้เกิดความกดดันที่นำไปสู่การประกอบอาชญากรรม ที่มาของความกดดัน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

 

  1. ความกดดันจากการไม่ได้รับสิ่งที่คาดหวัง
  2. ความกดดันที่เกิดจากการถูกถอดถอนหรือสูญเสียสิ่งที่มีค่าของบุคคล
  3. ความกดดันที่เกิดจากการประสบกับเหตุการณ์ที่ร้ายแรง

 

    ยกตัวอย่างเช่นหากเคยถูกทารุณกรรมมาก่อน ความกดดันนั้นอาจจะก่อให้เกิดความโกรธ สับสน ผิดหวัง เครียด และความกลัว นำไปสู่พฤติกรรมต่อต้านสังคม อาทิ ติดยาเสพติด ก่อความรุนแรง เป็นต้น แน่นอนว่าบุคคลนั้นจะค่อยๆสั่งสมประสบการณ์ความกดดันมาตั้งแต่ในวัยเด็กและเก็บกดอยู่ในจิตใต้สำนึก เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะระเบิดออกมาเป็นพฤติกรรม บางคนเมื่อไม่สมปรารถนาอาจแสดงพฤติกรรมออกมาเป็นการแก้แค้นบุคคลที่ตนไม่ชอบใจหรือแก้แค้นชุมชนหรือสังคม บางคนพัฒนาไปในทางที่เลวร้ายจนมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม

 

    จากการศึกษาแม้จะพบว่าพฤติกรรมต่อต้านสังคมน้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่หากได้รับการเอาใจใส่จากคนรอบข้าง และบุคลสามารถปรับตัวได้ แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่สามารถปรับตัวได้ บุคคลก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชญากรรม ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน มีการถกเถียงว่าการที่ประธานาธิบดีโรนัลด์ ทรัมป์ (Donald J. Trump) ได้รับการเลือกตั้งส่วนหนึ่งก็เพราะทัศนคติของประชาชนคนผิวขาวที่ต้องการแบ่งแยกกับคนผิวสี  และด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐอเมริกาก็นำไปสู่การวิพากษ์ว่าคนต่างชาติผิวสีเข้ามาแย่งงานคนในประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจย่อมทำให้มีคนตกงาน มีคนที่มีรายได้น้อย มีคนที่ได้รับผลกระทบ คนกลุ่มนี้ย่อมนำไปผูกกับวาทกรรมที่ว่าคนผิวสี (ทั้งผิวดำและผิวเหลือง) แย่งงานคนผิวขาว ก่อเป็นทัศนคติและอคติของการเหยียดผิว และเชื้อชาติ สีผิวจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ และเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้คนผิวขาวในสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในภาวะกดดันรู้สึกโกรธแค้น นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง

 

    ในประเทศสหรัฐอเมริกาปัญหาที่เป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดอีกประการก็คือศาสนา หลังเหตุการณ์ 9/11 หรือเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2544 ในสังคมชาวอเมริกันเกิดความกดดันที่เกิดจากการถูกถอดถอนหรือสูญเสียสิ่งที่มีค่าของบุคคล ในที่นี้คือความปกติของสังคม สังคมในอุดมคติที่คาดหวัง และคนบางกลุ่มสูญเสียเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง ประกอบกับความกดดันที่เกิดจากการประสบกับเหตุการณ์ที่ร้ายแรง ดังนั้นกระแสความเกลียดชังที่มีต่อคนมุสลิมและศาสนาอิสลามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอิสลามถูกตีความโดยใช้สัญลักษณ์ว่าเป็นการก่อการร้าย เมื่อบุคคลที่อยู่ในสภาพของความสูญเสีย ความอาดูร และความเครียด ประกอบกับข่าวที่ออกจากทางการและนโยบายของรัฐ ทำให้เกิดความกดดันขึ้น และสิ่งที่ประชาชนส่วนหนึ่งเลือกก็คือการก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง แม้แต่ในประเทศรวันดา ฝ่ายฮูตูก็อาศัยเรื่องของ แนวร่วมรักชาติรวันดา (Rwanda Patriot Front หรือ RPF) โดยประณามถึงความโหดร้ายของพวกตุ๊ดซี่ และทำให้ชาวฮูตูเกิดความเครียด และอาศัยความเครียดนั้นนำไปสู่การยุแยงให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวตุ๊ดซี่ เรียกได้ว่าความกดดันนั้นเป็นที่มาที่สำคัญยิ่งของการนำไปสู่พฤติกรรมเบี่ยงเบน

 

    ในประเทศไทยนั้นเมื่อพิเคราะห์ไปถึงข่าวเรื่องของนักเรียนนักศึกษายกพวกตีกัน นอกจากเด็กกลุ่มนี้จะถูกกล่อมเกลาด้วยวัฒนธรรมในกลุ่มของตนเองแล้ว แต่เมื่อพิเคราะห์ตามทฤษฎีกดดันใหม่จะเห็นได้ว่า เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีชื่อเสียงหรือถูกละเลย กล่าวได้ว่าในสังคมที่ยกย่องเชิดชูบุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต ความร่ำรวย ความสะดวกสบาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะได้รับก็ต่อเมื่อบุคคลได้รับการศึกษาที่ดี เข้าโรงเรียนมีชื่อเสียง มีผลการศึกษาที่ยอดเยี่ยม เป็นการการันตีอนาคต แต่เด็กกลุ่มนี้กลับอยู่ในกลุ่มตรงกันข้ามกับความคาดหวังของสังคมโดยสิ้นเชิง คือมาจากครอบครัวที่ฐานะไม่ดี ศึกษาในโรงเรียนไม่มีชื่อเสียง และมักมีผลการเรียนไม่ดี เมื่อถูกสังคมกดดัน และพลาดหวังจากการไม่ได้รับในสิ่งที่คาดหวัง หรือที่ถูกคือสิ่งที่สังคมกดดันให้จำต้องคาดหวัง ความรู้สึกเหล่านั้นต้องการที่ระบายออก และการได้แสดงอำนาจหรือการได้ปกป้องรักษาบางสิ่ง ตลอดจนได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของในบางอย่างซึ่งในที่นี้คือ “สถาบันการศึกษา” ก็เป็นการสร้างคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ให้กับเด็กในกลุ่มนี้ ท้ายที่สุดจึงกลับกลายเป็นการสร้างค่านิยมแบบใหม่ขึ้นนั่นเอง

 

    ในกรณีของอคติต่อกลุ่มคนเพศทางเลือก ก็ถือเป็นความกดดันประเภทหนึ่ง โดยสังคมไทยนั้นตั้งมาตรฐานความเป็นชายและหญิงไว้ สังเกตได้จากละคร ภาพยนตร์ หรือนักแสดง ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้ติดอยู่ในความคิดของผู้คนจนเกิดเป็นค่านิยม ชายต้องแข็งแกร่งและเหนือผู้หญิง ส่วนผู้หญิงก็ควรต้องอ่อนหวาน อ่อนโยน และพึ่งพาผู้ชาย แต่แล้วเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป เมื่อผู้หญิงและผู้ชายไม่เป็นไปตามภาพลักษณ์ที่คาดหวัง ก่อกำเนิดเป็นความกดดันในประเภทแรก เมื่อมีบางสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ ไม่เป็นไปตามแบบแผนวัฒนธรรมที่ถูกกล่อมเกลามา ก่อกำเนิดเป็นอคติ และอคติ ความโกรธ เกลียดชังที่นอกเหนือจากการควบคุมจึงกลับกลายเป็นอาชญากรรม ในกรณีของทอมนั้น เหตุที่ผู้ชายไม่ชอบคนกลุ่มนี้มาจากการถูกแย่งอัตลักษณ์ทางเพศ และผู้ชายยังคงมองว่าทอมเป็นผู้หญิง แต่เป็นผู้หญิงกลุ่มที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของพวกเขานั่นเอง

 

Model ของอคติและความเกลียดชัง

 

    หลังจากที่อธิบาย Hate Crimes  ในเชิงทฤษฎีไปแล้ว ในหัวข้อนี้จะเป็นการจำลองสร้าง Model ของความเกลียดชังจากทฤษฎีกดดัน ทฤษฎีการเลียนแบบ และทฤษฎีการคบหาสมาคมที่แตกต่าง ให้ตั้งสมมติฐานจากทั้งสามทฤษฎีดังกล่าว กรณีที่บุคคลที่ได้รับความกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจ สังคม หรือปัจจัยใดก็ตาม เมื่อต้องตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีแต่บุคคลที่มีอคติในแง่ลบต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 

    สมมติว่า นาย ก ตกงาน และได้รับทราบจากคนรอบข้างวิพากษ์วิจารณ์ว่าการตกงานของเขาเกิดจากมีคนต่างชาติเข้ามาแย่งงานทำภายในประเทศ นาย ก มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่อยู่แล้ว และความที่เขาพลาดหวังจากงาน อาจนำไปสู่ครอบครัวแตกแยก ความยากจน ฯลฯ คนต่างด้าวจึงกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ความกดดันของนาย ก

 

    จากนั้น นาย ก จึงเข้าเวปไซต์ไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคนต่างด้าวในฐานข้อมูลที่อุดมไปด้วย Hate Speech และเข้าไปร่วมมีปฏิสัมพันธ์กับคนในประเภทเดียวกัน หรืออาจเป็นใครก็ตามที่มีทัศนคติเชิงลบ หรือพวกหัวรุนแรง นาย ก ก็จะซึมซับเอาวัฒนธรรม และเลียนแบบพฤติกรรมนั้นมา ท้ายที่สุดนาย ก ก็จะกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคน จากนั้นนาย ก เห็นด้วยกับการทำร้ายหรือก่อความเสียหายให้กับกลุ่มคนที่ตนเกลียด และตัดสินใจเป็นคนช่วยเผยแพร่ Hate Speech และอาจนำไปสู่การประกอบอาชญากรรม Hate Crimes ด้วยความเกลียดชังต่อกลุ่มบุคคลต่างเชื้อชาติ นอกจากนี้ นาย ก ยังซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงทั้งทางวาจา และทางกายภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การหมิ่นประมาท ทำร้ายร่างกาย หรือใช้ความรุนแรงต่อทรัพย์สินและชีวิตของบุคคลในที่สุด

แนวทางการแก้ปัญหา

 

    วิธีการที่จะแก้ไข Hate Crimes นั้นมีหลากหลายแนวทางด้วยกัน แนวทางหนึ่งที่ค่อนข้างประนีประนอมคือ การปรับทัศนคติและบุคลิกภาพของบุคคล เนื่องจากอาชญากรรมที่เกิดจากอคตินั้นแตกต่างจากอาชญากรรมอื่นตรงแรงจูงใจดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่แรงจูงใจนั้นค่อนข้างจะเป็นนามธรรม จึงต้องกลับไปเริ่มต้นที่การปรับสภาพแวดล้อมของบุคคล ซึ่งประเด็นที่มีผู้ถกเถียงกันมากก็คือ “การควบคุมสื่อ” ซึ่งในที่นี้หมายถึงการควบคุมการแพร่ขยายของ Hate Speech ทว่า กลับเป็นการยากยิ่งที่จะสามารถแบ่งแยกความแตกต่างของ Hate Speech กับ Free Speech ออกจากกันได้ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย อิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หากมีการควบคุมในเรื่องนี้อย่างหนักอาจจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดกั้นเสรีภาพของบุคคลได้ ตัวอย่างของประเทศที่ปรับพฤติกรรมความคิดของคนตั้งแต่ต้นทางเลยก็คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งด้วยความที่ประเทศจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นบริษัท Microsoft หรือ Google ที่เข้าไปทำธุรกิจในจีนต่างก้องยินยอมปฏิบัติตามกฎหมายเซนเซอร์ของจีน

 

    วิธีถัดมาก็คือการใช้อารยะขัดขืนตอบโต้ Hate Speech ในโลกเสรี จากงานวิจัยของชาญชัย ชัยสุขโกศล เห็นว่าการตอบโต้ Hate Speech นั้นอาจกระทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ควรได้รับการสนับสนุนในสังคมประชาธิปไตยมีอยู่ 3 รูปแบบ รูปแบบแรกคือการใช้ Counter Speech เป็นลักษณะของการพูดโต้ตอบและหาข้อมูลมายืนยันเหตุผลของกันและกัน รูปแบบที่สองคือ อารยะขัดขืนทางอิเลคทรอนิกส์ กล่าวคือการใช้ สแปมหรือการโจมตีให้เวปไซต์ใดเวปไซต์หนึ่งล่มในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง และแบบที่สามคือ การป่วนทางวัฒนธรรมคือ การใช้วิธีทางจิตวิทยาผ่านสื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็นวิทยุ แฟชั่น งานศิลปะต่างๆ มาเป็นสื่อให้เห็นการต่อต้านการเหยียดและการใช้ความรุนแรงจากอคติ ซึ่งวิธีการนี้ก็คือการปล่อยให้ทุกคนในสังคมแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่แม้ว่าความเห็นนั้นจะนำไปสู่ความรุนแรงแค่ไหน ก็จะต้องตอบโต้อย่างมีเหตุมีผล

 สำหรับวิธีประเภทที่สามที่เป็นที่นิยมและยอมรับกันอย่างกว้างขวางก็คือการออกกฎหมาย ในวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตของ นางสาวกชกร วิชยาภัย บุนนาค ให้ความเห็นว่าประเทศไทยควรจะบัญญัติ Hate Crimes ลงในประมวลกฎหมายอาญาให้เป็นความผิดฐานหนึ่งหรือเป็นบทเพิ่มโทษ เนื่องจากเมื่อมีกฎหมายแล้วจะเป็นการปราบปรามยับยั้งการกระทำความผิด (Deterrence) แสดงว่าผู้ปกครองบ้านเมืองให้ความสำคัญกับความผิดในประเภทนี้ และป้องปรามไม่ให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดที่เกิดจากความเกลียดชังลงมือกระทำความผิด ซึ่งในข้อเสนอนี้ตรงกับทฤษฎีของสำนักอาชญาวิทยาดั้งเดิม ซึ่งเห็นว่าในประเทศไทยนั้นยังไม่มีกฎหมายที่บังคับใช้กับ Hate Crimes ดังนั้นบุคคลจึงสามารถก่อให้เกิดความเกลียดชัง หรือกระทำการใดโดยปราศจากความรับผิดเป็นพิเศษ เพียงแต่รับโทษในกฎหมายพื้นฐานเท่านั้น กฎหมายไทยจึงไม่มีความรุนแรง แน่นอน รวดเร็ว และได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด

 

     แต่อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างที่เห็นได้ในต่างประเทศอาทิเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าแม้จะมีกฎหมายที่เข้มงวดหรือเพียรพยายามป้องปรามเพียงใด แต่อัตรา Hate Crimes กลับยังสูงขึ้นทุกปี และอาจลุกลามไปเรื่อยจนกลับกลายเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติได้ ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วจึงเป็นการยากที่จะบอกให้ใช้เพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่งในการป้องปรามหรือแก้ไข การออกกฎหมายน่าจะยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดเสมอไป แต่อาจต้องมีการใช้มาตรการอื่นควบคู่กันไปด้วยในการกล่อมเกลาผู้คน

 

    ในเชิงโครงสร้างทางสังคมเป็นความจำเป็นที่สังคมต้อง “ลดความกดดัน” โดยไม่จำต้องวางมาตรฐานสังคมในลักษณะสังคมปิรามิด ที่ผู้คนจำต้องปีนป่ายสู่ยอดเพื่อความสำเร็จตามมาตรฐาน แต่ควรมีช่องว่างหรือทางออกให้กับคนอีกส่วนหนึ่ง ควรให้ความรู้และสร้างมุมมองใหม่ให้กับการขับเคลื่อนสังคม ในขณะเดียวกันก็ควรให้ความรู้แก่สื่อต่างๆในสังคมไทยให้เข้าใจถึงความอันตรายของการเผยแพร่ถ้อยคำที่แฝงนัยอคติเชิงสัญลักษณ์ไว้มากมาย องค์กรสื่อต้องมีการหารือและสร้างมาตรการควบคุม“ถ้อยคำ” หรือ “สัญลักษณ์” โดยต้องเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่าถ้อยคำยั่วยุให้เกิดความโกรธหรือเกลียดชังนั้นหาใช่ Free Speech ไม่ และเสรีภาพที่มากับความรุนแรงนั้นหาใช่เสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย แต่เป็นพฤติกรรมก้าวร้าว

 

Hate Crimes กับสังคมไทยในอนาคต

 

     มนุษย์นั้นเรียนรู้อดีตเพื่อสร้างปัจจุบัน และเข้าใจปัจจุบันเพื่อทำนายอนาคต ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากว่าแม้ในอดีตสังคมไทยจะไม่ได้มองว่า Hate Crimes เป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่งและไม่เคยเรียนรู้การมีอยู่ของมันเลย แต่เมื่อย้อนดูปรากฏการณ์ในสังคมดังที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้นกลับพบว่าแท้ที่จริงปรากฏการณ์เหล่านี้ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดและวนเวียนอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน ยิ่งสังคมมีความเคลื่อนไหว มีความเปลี่ยนแปลง โลกภายนอกกลับยิ่งมีผลกระทบต่อเรามากขึ้น ไม่ว่าเรื่องของเพศสภาพ การเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดความมั่งมีหรือยากจน การเหยียดความชาญฉลาดหรือความโง่เขลา การเหยียดแนวคิด ฯลฯ ยิ่งสังคมเติบโต ยิ่งสังคมเปิดกว้าง ความเปลี่ยนแปลงจะยิ่งกดดันผู้คนให้รู้สึกผิดหวัง หมดหวัง และเกิดความเศร้า ก่อกำเนิดเป็นความโกรธหรือความเกลียด ดังนั้นแนวโน้มของ Hate Crimes จึงน่าจะมีสูงขึ้นในอนาคต แต่เราไม่สามารถทำนายได้ว่าจะสูงขึ้นเพียงใด ในเวลาเท่าใด เพราะตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอาทิ ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเหตุการณ์ความขัดแย้งของสีเสื้อก็เป็นปรากฏการณ์ที่น้ำหนักความรุนแรงเพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อผู้คนปะทะกับความกดดันและเข้าไปคลุกคลีในกลุ่มชนหรือสื่อที่ยั่วยุให้เกิดอคติคล้อยตาม เป็นตัวอย่างที่ดีว่า สังคมคมควรตั้งอยู่บนความไม่ประมาท เพราะเหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียวอาจสร้างปรากฏการณ์ร้ายแรงอย่างนึกไม่ถึง ยกระดับภาวะอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงของผู้คนในสังคมให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้

 

    การศึกษาให้เข้าใจกลไกของ Hate Crimes จึงเสมือนเป็นการรู้เท่าทัน และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทยในการได้พิจารณาปรากฏการณ์ในบ้านเมืองของตนเองอย่างแท้จริง

 

เอกสารอ้างอิง

 

หนังสือ

วีระชัย โชคมุกดา. สงครามโลก 1,2 (ฉบับสมบูรณ์) WORLD WAR I,II ประวัติศาสตร์การเข่นฆ่าที่โลกต้องเรียนรู้.กรุงเทพฯ: ยิปซี,2554.

 

พรชัย ขันตี, กฤษณพงค์ พูตระกูล, และจอมเดช ตรีเมฆ. ทฤษฎีอาชญาวิทยา: หลักการ งานวิจัย และนโยบายประยุกต์.กรุงเทพมหานคร: สาขาวิชาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต,2558

 

Chakraborti, N and Garland,J, Hate Crime. In DeKeseredy, W and Dragiewicz,M, Routledge Handbook of Critical Criminology, New York,2012

 

งานวิจัย

ชาญชัย ชัยสุขโกศล. Hate Speech และข้อมูลอันตราย: ทางเลือกวิธีตอบโต้ทางการเมือง. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล,2554).

 

 

วิทยานิพนธ์

กชกร วิชยาภัย บุนนาค. การกำหนดความรับผิดทางอาญาสำหรับอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2556

 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์

ข่าวสด. ขาสั้น ปะทะ ขายาว นักเรียนอาวุธครบมือยกพวกตีกันสนั่นถนน ศานิตย์ ฮึ่มเร่งแก้ปัญหา (ออนไลน์).2560. แหล่งที่มา https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_453420 (22 พฤศจิกายน 2560)

 

นัทธี จิตสว่าง. ความแตกต่างของการก่อการร้ายกับอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate crime) (ออนไลน์). 2559. แหล่งที่มา https://www.gotoknow.org/posts/609456 (27 ตุลาคม 2560)

 

มติชนออนไลน์. ยอมรับความหลากหลาย ยุติ “Hate Crime: อาชญากรรมจากความเกลียดชัง” (ออนไลน์).2560. แหล่งที่มา https://www.matichon.co.th/news/440162  (22 พฤศจิกายน 2560)

 

 เดลินิวส์.“จับหนุ่มหล่อฆ่า ‘กระเทย’ ยัดศพใส่กระเป๋าอำพราง”(ออนไลน์).2559. แหล่งที่มา https://www.dailynews.co.th/crime/500722 (22 พฤศจิกายน 2560)

 

The Crown Prosecution Service. What is hate crime?(ออนไลน์). 2560. แหล่งที่มา http://www.cps.gov.uk/victims_witnesses/hate_crime/ (22 พฤศจิกายน 2560)

 

WAY. U.S. & Hate Crime (ออนไลน์). 2559. แหล่งที่มา https://waymagazine.org/us_hate_crime/ (27 ตุลาคม 2560)

 

 WAY. สหประชาชาติ กลุ่มสิทธิฯ ประณามการรังคัดรังแกชาวเพศทางเลือก (ออนไลน์). 2560. แหล่งที่มา https://waymagazine.org/un_lgbtq/ (22 พฤศจิกายน 2560)

 

 

 

 

H O M E

A B O U T

O U R T E A M

Nathee Chitsawang

Copyright 2016 | All Rights Reserved.