บทความ
การอพยพย้ายถิ่นและอาชญากรรม: เมื่อความเชื่อสวนทางกับความเป็นจริง?
โดย นางสาวสัณหวรรณ ศรีสด
บทนำ
“เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีสถิติอาชญากรรมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เราจึงต้องมีกำแพงและเม็กซิโกจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยการชำระคืนภายหลัง”
ข้อความบนทวิตเตอร์นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2560
หนึ่งในนโยบายชูโรงที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคือการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกเพื่อแก้ไขปัญหาคนหลบหนีเข้าเมือง โดยได้แสดงความคิดเห็นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์และระหว่างการหาเสียงหลายต่อหลายครั้งในเชิงว่าเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีสถิติอาชญากรรมสูง และมีคนหลบหนีเข้าเมืองเป็นจำนวนมากโดยคนเหล่านี้มักมาก่ออาชญากรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นสหรัฐจำเป็นต้องมีกำแพงกั้นชายแดน และเม็กซิโกจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย (โพสต์ทูเดย์ 2560)
แนวคิดที่ว่าผู้อพยพมีผลต่อความมั่นคงของประเทศหรือต่อความปลอดภัยและทรัพย์สินของพลเมืองในประเทศปลายทางนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อันที่จริงการโต้เถียงเชิงวิชาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการอพยพย้ายถิ่นกับอาชญากรรมนั้นมีมากว่า 100 ปีแล้ว (Martinez และ Lee 2000)โดยการอพยพย้ายถิ่นนั้นเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่อยู่คู่กับมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัยและในแต่ละช่วงเวลาจะมีเหตุผลการอพยพต่างกันไป เช่น ช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 การอพยพย้ายถิ่นฐานเกิดขึ้นเนื่องจากการค้าทาส เหตุผลทางการเมือง และเหตุทางศาสนา หลังจากศตวรรษที่ 19 การย้ายถิ่นฐานส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการการพัฒนาอุตสาหกรรม ในช่วงปัจจุบันการอพยพย้ายถิ่นมักเกิดขึ้นจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและความต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือเพื่อแสวงหาความปลอดภัยและเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจ (Vitiello 2013)
ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง พลเรือนอเมริกันก็กังวลมาตั้งแต่ยุคสมัยอาณานิคมจนถึงปัจจุบันเช่นกันว่าเหล่าผู้อพยพถิ่นฐานจะมาก่ออาชญากรรมและตนจะตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมเหล่านี้ (Mears 2001)โดยเชื่อว่าผู้อพยพเหล่านี้มาจากชนชั้นอาชญากรที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของชุมชนโดยการประกอบอาชญากรรมที่มีความรุนแรงหรืออาชญากรรมต่อทรัพย์สิน เช่น การฆ่า ข่มขืน ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย การฉ้อโกง และการลักขโมย เป็นต้น (Bernat 2017) ทั้งนี้ ถึงแม้จะมีงานวิจัยมากมายในอเมริกาที่ออกมายืนยันว่าการอพยพย้ายถิ่นไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรม แต่ชาวอเมริกันมากมายก็ยังมองว่าผู้อพยพย้ายถิ่นเป็นกลุ่มคนที่ไม่น่าไว้วางใจในปีพ.ศ.2557มีการทำโพลเพื่อสำรวจความเห็นของสาธารณชนในประเทศอเมริกาและพบว่าคนอเมริกันมองว่าผู้อพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยโดยมิชอบด้วยกฎหมายสมควรถูกผลักดันออกจากประเทศและรัฐบาลควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดการข้ามพรมแดนโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (Chiricos, Stupi, Stults และ Gertz2014) และนี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายแข็งกร้าวต่อผู้อพยพย้ายถิ่นได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
นอกจากนี้ ในหลายประเทศในยุโรปเองก็มีพลเมืองบางกลุ่มออกมารวมตัวกันในหลายประเทศเพื่อประท้วงต่อต้านนโยบายการรับผู้อพยพย้ายถิ่น เช่น ในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ค โปแลนด์ สโลวาเกียสหราชอาณาจักร เนเธอแลนด์ และออสเตรีย เป็นต้น โดยจุดประสงค์หลักของการประท้วงคือการหยุดคลื่นผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมที่หนีภัยสงครามและหลั่งไหลเข้ามาในยุโรป (เช่น Melvin 2016)โดยสาเหตุก็มาจากทั้งความหวาดระแวงว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะเข้ามาก่ออาชญากรรมในประเทศตน จะมาเป็นภัยต่อความมั่นคงในประเทศ หรือความรู้สึกหวาดกลัวคนต่างถิ่น (Xenophobia) โดยเฉพาะคนมุสลิม (Islamophobia)นอกจากนี้จะเห็นว่าแนวโน้มการเลือกตั้งในประเทศต่างๆก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปโดยกลุ่มขวาจัด หรือกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่อต้านผู้อพยพย้ายถิ่นจะได้เสียงสนับสนุนมากขึ้น หรือได้รับเลือกตั้งเช่นนายเซบาสเตียน เคิร์ซ วัย 31 ปี หัวหน้าพรรคประชาชน ที่พึ่งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีประเทศออสเตรีย โดยมีนโยบายต่อต้านผู้ลี้ภัย และสนับสนุนให้ออสเตรียปิดพรมแดน โดยเขาเสนอให้ลดสวัสดิการผู้ลี้ภัยรวมทั้งชาวต่างชาติที่อยู่ในออสเตรียจะได้รับในระดับน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้(TNews 2560)
ในประเทศไทยเองความเข้าใจที่ว่าผู้อพยพย้ายถิ่นมีผลต่ออัตราการเกิดอาชญากรรมในประเทศนั้นสะท้อนอย่างชัดเจนผ่านนโยบายการควบคุมการเคลื่อนไหวของคนต่างด้าว การมีกฎหมายปราบปรามการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่เข้มงวด และมาตรการปราบปรามต่างๆ จากสื่อต่างๆและจากบุคคลในระดับต่าง ๆ ทั้งโดยสาธารณะชนโดยทั่วไป หรือจากคำสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ รวมถึงในนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ 2558-2564ที่สำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติกำหนดให้การย้ายถิ่นฐานของประชากรเป็นหนึ่งในสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงในระยะ 7 ปี (2558-2564) ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาทั้งในมิติความมั่นคงของมนุษย์ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยจำนวน 4,148 คน โดยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในปี 2549 พบว่า ร้อยละ 59 ของประชากรไทยมีความเห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ควรอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานทุกประเภทในประเทศไทยได้ ร้อยละ 59.7 ไม่เห็นด้วยที่แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้แสดงออกทางความคิดอย่างเป็นอิสระ ร้อยละ 50 ไม่เห็นด้วยที่แรงงานต่างด้าวมีลักษณะการทำงานภายใต้เงื่อนไขและค่าตอบแทนเดียวกันกับแรงงานไทย โดยผู้สำรวจได้ให้ข้อสังเกตว่าคนไทยมีทัศนคติต่อแรงงานต่างด้าวในทิศทางลบเพราะการรับรู้ข่าวสารจากสื่อต่างๆ โดยร้อยละ 79.4 รับรู้ว่าแรงงานต่างด้าวนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในประเทศไทย ดังนั้นจึงทำให้ความไว้วางใจค่อนข้างต่ำ (เอแบคโพลล์ 2549)
ทั้งนี้ การอพยพย้ายถิ่นข้ามพรมแดนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐปลายทางนั้นพึ่งถูกบัญญัติให้เป็นความผิดในช่วงศตวรรษที่ 18 นี้เอง โดยเชื่อมโยงกับการจำกัดอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐมิให้ใช้อำนาจก้าวก่ายรัฐอื่น (ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ 2552)และการเกิดขึ้นของ “สิทธิของพลเมือง” (Citizen Rights) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “สิทธิที่จะมีสิทธิ” (the right to have rights)(ERI 2010) ซึ่งมักถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิที่จะได้สวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐบาลแก่พลเมืองในประเทศเป็นสำคัญ และจำกัดการเข้าถึงโอกาสการทำงานและโอกาสทางเศรษฐกิจแก่พลเมืองในประเทศเป็นหลัก ซึ่งทำให้การกำหนดนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นในยุคใหม่นี้จึงมักมีที่มาจากสองปัจจัยคือ (1) ความเชื่อที่ว่าคนจากที่อื่นจะเข้ามาสร้างปัญหาต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย และ (2) ความเชื่อที่ว่าคนจากที่อื่นจะเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในการจัดบริการสาธารณะของรัฐ(ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ 2552)ด้วยเหตุดังกล่าวกฎหมายและนโยบายต่างๆจึงถูกกำหนดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนของผู้อพยพถิ่นฐานที่จะไหลบ่าเข้ามาในประเทศ ควบคุมจำนวนผู้อพยพถิ่นฐานที่มาจากบางประเทศ ลดสวัสดิการทางสังคมของผู้อพยพถิ่นฐาน หรือเพิ่มอัตราโทษกรณีการละเมิดกฎหมายควบคุมคนเข้าเมือง
บทความนี้จะเน้นวิเคราะห์ถึงความเชื่อและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัจจัยที่หนึ่งเท่านั้น โดยจะวิเคราะห์ว่าผู้อพยพย้ายถิ่นนั้นจะเข้ามาสร้างปัญหาต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะการเข้ามาก่ออาชญากรรมจริงหรือไม่ทั้งนี้ จะอธิบายถึงทฤษฎี หลักการ และงานวิจัยที่สนับสนุนและคัดคานแนวคิดที่ว่าการอพยพย้ายถิ่นส่งผลต่อการประกอบอาชญากรรมในประเทศปลายทาง รวมถึงการสะท้อนมุมมองของกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพย้ายถิ่นของประเทศไทย ว่าการมีนโยบายและกฎหมายที่ควบคุมผู้อพยพอย่างเคร่งครัดนั้นเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับอาชญากรรมจริงหรือไม่
การอพยพย้ายถิ่น
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) นิยามว่า“ผู้อพยพย้ายถิ่น” (Migrant)หมายถึงบุคคลที่กำลังเคลื่อนย้ายหรือเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนสากลจากประเทศที่อยู่อาศัยของตนแล้ว ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีสถานะทางกฎหมายเช่นไร ไม่ว่าการเคลื่อนย้ายดังกล่าวจะเป็นไปโดยสมัครใจหรือไม่สมัครใจ ไม่ว่าสาเหตุของการโยกย้ายถิ่นฐานคืออะไร และไม่ว่าจะอยู่อาศัยในประเทศปลายทางมานานเท่าใด ทั้งนี้ รูปแบบการอพยพย้ายถิ่นอาจถูกแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการอพยพ เช่น ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เหตุผลทางครอบครัว หรือเพื่อลี้ภัย (Refugee) หรือแบ่งตามสถานภาพทางกฎหมาย เช่น เป็นผู้เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย เป็นต้น
ในปีพ.ศ.2558 สหประชาชาติได้ประกาศว่าทั่วโลกมีผู้อพยพย้ายถิ่น (Immigrant) สูงถึง 244 ล้านคน หรือ 3.3% ของประชากรโลกซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 41% จากปีพ.ศ. 2543โดยมีเป้าหมายไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วกว่า 140 ล้านคน และอีกประมาณ 103 ล้านคนไปยังประเทศกำลังพัฒนา (UN Population Division 2015)
ในส่วนของประเทศไทยนั้นในปีพ.ศ.2558 สหประชาชาติได้ประมาณการว่าไทยมีผู้อพยพย้ายถิ่นประมาณ 4 ล้านคน โดยเดินทางมาจากสามประเทศหลัก ได้แก่ เมียนมา 1,978,000 คน สปป.ลาว 969,000 คน และกัมพูชา 805,000 คนโดยประมาณ ซึ่งคิดเป็น 5.8% ของประชากรทั้งหมด (UN Population Division 2015) ทั้งนี้ในเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2560 สำนักบริหารงานแรงงานต่างด้าว ได้ตีพิมพ์ว่ามีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักรทั้งที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย ทั้งสิ้น 1,848,295 คน โดยเป็นส่วนใหญ่แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา (กรมการบริหารแรงงานต่างด้าว 2560) โดยการย้ายถิ่นฐานของประชากรจากประเทศรอบบ้านเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการย้ายถิ่นในลักษณะเป็นการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (สำนักสภาความมั่งคงแห่งชาติ 2558) โดยส่วนต่างระหว่างตัวเลขที่ประมาณการโดยสหประชาชาติและตัวเลขของแรงงานจดทะเบียนที่ตีพิมพ์โดยสำนักบริหารงานแรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนนั้นไม่เป็นที่แน่ชัดว่าว่าเป็นจำนวนที่ตกสำรวจ สมัครใจอยู่อย่างผิดกฎหมายและไม่ลงทะเบียน หรือคลาดเคลื่อนประการใด
การอพยพย้ายถิ่นและอาชญากรรม
ตามที่กล่าวไปในบทที่แล้ว ในมุมมองของคนทั่วไปรวมถึงในมุมมองของผู้กำหนดนโยบายมักมองว่าการอพยพย้ายถิ่นสัมพันธ์กับการก่ออาชญากรรมและเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขการประกอบอาชญากรรมสูงขึ้น ทั้งนี้เป็นที่น่าขบคิดว่าความเชื่อดังกล่าวนั้นมาจากงานวิจัยและหลักฐานที่เป็นที่ประจักษ์ว่าผู้อพยพย้ายถิ่นมีความเป็นไปได้ที่ประกอบอาชญากรรมสูงกว่าคนท้องถิ่นใช่หรือไม่? หรือ เมืองที่มีคนอพยพย้ายถิ่นอยู่อาศัยเยอะมีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงกว่าเมืองอื่นๆใช่หรือไม่? หรือปรากฏการณ์อพยพย้ายถิ่นที่มากขึ้นเป็นสาเหตุให้อัตราการก่ออาชญากรรมทั่วประเทศสูงขึ้นใช่หรือไม่? นอกจากนี้ งานวิจัยหรือหลักฐานดังกล่าวส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจควบคุมผู้อพยพในประเทศอย่างเข้มงวดและเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมายใช่หรือไม่?
แน่นอนว่าความยากลำบากในการยืนยันสมมติฐานดังกล่าวข้างต้นนั้นคือการที่ข้อมูลที่เกี่ยวกับจำนวนการหมุนเวียนของผู้อพยพ ทั้งกรณีที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และอัตราการประกอบอาชญากรรมทั้งจำนวนที่มีการร้องเรียนและกรณีที่ไม่ได้ร้องเรียนที่เที่ยงตรงนั้นหาได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีการลักลอบใช้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจนเคยชิน ซึ่งมีส่วนทำให้ไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถเปิดเผยสถิติจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่แท้จริงได้ (สนิท สัตโยภาส 2559)นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม วัฒนธรรม และทางการเมืองล้วนส่งผลต่อการนิยามอาชญากรรม การลงโทษ และรูปแบบการร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาทั้งสิ้น ดังนั้นการที่จะสรุปว่ากลุ่มผู้อพยพถิ่นฐานเป็นกลุ่มบุคคลอันตรายหรือไม่อันตรายเพียงแค่ดูตัวเลขสถิติการกระทำผิด และการจับกุม โดยละเลยการพิจารณาถึงสาเหตุและปัจจัยการกระทำผิดทางอาชญาวิทยา รวมถึงเงื่อนไขทางสังคมและทางกฎหมายนั้นจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องนัก (Bernat 2017)
การอพยพย้ายถิ่นฐานมีผลต่ออาชญากรรม?
อันที่จริงในเชิงอาชญาวิทยานั้นมีอยู่หลายทฤษฎีที่สนับสนุนแนวคิดว่าผู้อพยพถิ่นฐานมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชญากรรมสูงเพราะเป็นผลมาจากปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศปลายทาง(Martinez และ Lee 2000) ซึ่งได้แก่ ทฤษฎีทางด้านเกี่ยวกับโครงสร้างสังคม เช่น ทฤษฎีการเสียระเบียบทางสังคมและทฤษฎีความกดดันทางสังคม และทฤษฎีทางด้านวัฒนธรรม เช่น ทฤษฎีวัฒนธรรมย่อยของความรุนแรงและทฤษฎีความขัดแย้งทางวัฒนธรรม
ทฤษฎีการเสียระเบียบทางสังคม หรือ Social Disorganization Theory มองว่าในบริเวณที่มีความไม่เป็นระเบียบสูง (disorganized areas) มีความยากจน เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม และมีการเคลื่อนไหวสับเปลี่ยนของผู้อยู่อาศัยสูง ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่เกิดความหวงแหนและผูกพันร่วมกัน ทำให้กลไกการควบคุมของสังคมอ่อนแอลง และมีแนวโน้มจะประกอบอาชญากรรมสูงโดยมองว่าอาชญากรรมเกิดจากชนชั้นผู้อพยพย้ายถิ่นที่มาจากประเทศอื่นและประสบกับความกดดัน (strain) และผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ (Shaw และ McKay 1942)
ทฤษฎีความกดดันทางสังคม หรือ StrainTheory วางหลักไว้ว่า เมื่อบุคคลเผชิญกับความยากลำบากในการบรรลุเป้าหมายทางสังคมโดยถูกกฎหมาย บุคคลเหล่านั้นจะใช้ทางที่ไม่ถูกกฎหมายในการบรรลุเป้าหมาย รวมไปถึงการประกอบอาชญากรรม (Merton 1938) ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ผู้คนอพยพย้ายถิ่นฐานเพราะมองหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่พอเข้าประเทศปลายทางมาแล้วอาจพบกับอุปสรรคมากมาย เช่นการไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการหรือแม้แต่โอกาสในการว่าจ้างเท่ากับคนที่เป็นพลเมือง ดังนั้น แม้คนเหล่านี้จะไม่ได้มีแรงจูงใจหรือลักษณะอาชญากรแต่กำเนิด แต่สถานการณ์ในประเทศปลายทางอาจสร้างความกดดัน (strain) และความโกรธแค้น (frustration)ซึ่งอาจนำไปสู่การประกอบอาชญากรรมที่สูงกว่าพลเมืองทั่วไป
ทฤษฎีวัฒนธรรมย่อยของความรุนแรง หรือ Subculture of Violence Theory ซึ่งวางหลักไว้ว่าคนบางกลุ่มประกอบอาชญากรรมและใช้ความรุนแรงเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาและเพื่อการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมต่างๆที่ไม่เอื้ออำนวยและไร้ระเบียบ จนพฤติกรรมดังกล่าวกลายเป็นพฤติกรรมที่ปกติและคาดหมายได้ (Wolfgang และ Ferracuti 1967) ทั้งนี้ ในเมื่อมีความเป็นไปได้ที่ผู้อพยพย้ายถิ่นจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ไร้ระเบียบมากกว่าคนท้องถิ่น จึงสามารถอนุมานได้ตามทฤษฎีนี้ว่าผู้อพยพย้ายถิ่นมีความเป็นไปได้ว่าจะก่ออาชญากรรมมากกว่าพลเมือง
สุดท้ายนี้คือทฤษฎีความขัดแย้งทางวัฒนธรรม หรือ Culture Conflict Theory ซึ่งมองว่าความขัดแย้งทางวัฒนธรรมเป็นเหตุให้ผู้อพยพประกอบอาชญากรรมเพราะกฎหมายอาญานั้นถูกร่างขึ้นเพื่อปกป้องคุณค่าและผลประโยชน์ของกลุ่มที่มีอำนาจเท่านั้น ในขณะที่แนวคิดเรื่องคุณค่าและบรรทัดฐานของกลุ่มผู้อพยพอาจจะต่างกันไปเล็กน้อย แต่ในเมื่อขัดแย้งกับสังคมในประเทศปลายทาง ความประพฤติของผู้อพยพจึงถูกมองว่าเป็นความประพฤติเบี่ยงเบนหรือเป็นอาชญากรรม (Sellin 1938)ทั้งนี้ มีสองปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุดังกล่าวคือหนึ่งอุปสรรคทางภาษาที่ก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดและสองคือการกระทำดังกล่าวเป็นนิสัยที่ติดมาโดยปกติจากประเทศต้นทาง ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมที่ต่างกับประเทศปลายทางโดยสิ้นเชิง โดยอาชญากรรมที่มีสาเหตุเช่นนี้ ได้แก่ ความผิดฐานค้าประเวณี การพนัน การผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว เป็นต้น (National Commission on Law Observance and Enforcement 1931)
อนึ่ง ทฤษฎีเหล่านี้สะท้อนแนวคิดสองประการ คือ (1) มองว่าบริเวณที่ผู้อพยพถิ่นฐานอาศัยอยู่มากและหนาแน่นจะมีการประกอบอาชญากรรมสูง เนื่องจากบริเวณที่ผู้อพยพอยู่อาศัยนั้นเชื่อว่าเป็นบริเวณที่ไม่เป็นระเบียบสูง (highly disorganized) และ (2) ผู้คนอพยพย้ายถิ่นล้วนแต่ต้องเผชิญอุปสรรคทั้งในด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจในการปรับตัวเข้ากับความเป็นอยู่ในประเทศปลายทาง โดยอุปสรรคเหล่านี้คือสาเหตุให้ผู้อพยพประกอบอาชญากรรม
อย่างไรก็ตาม ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศปลายทางที่ได้รับความนิยมสูงมากในหมู่ผู้อพยพย้ายถิ่นได้มีการทำวิจัยเพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างผู้อพยพและอาชญากรรมตามทฤษฎีด้านบนมากมายแต่ผลการวิจัยกลับเป็นไปในทางตรงข้าม โดยพบว่าการเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นไม่มีความสัมพันธ์กับการก่ออาชญากรรม และยังอาจส่งผลให้พื้นที่หรือชุมชนที่ตนเข้าไปอยู่อาศัยมีอัตราการก่ออาชญากรรมต่ำอีกด้วยเพราะเป้าหมายหลักของคนกลุ่มนี้คือการหาเงินและจะไม่ใช่ทำตัวให้เป็นที่สะดุดตา (Bernat 2017) ตัวอย่างเช่น ในปี 2559 ได้มีการตีพิมพ์งานวิจัยที่ทดสอบทฤษฎีการเสียระเบียบทางสังคม โดยมองว่ากลุ่มผู้อพยพใหม่เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากที่สุด และเชื่อว่ากลุ่มคนดังกล่าวมีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรมสูง แต่ผลจากการวิจัยกลับพบว่าการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้อพยพในพื้นที่ไม่ส่งผลต่ออัตราการประกอบอาชญากรรม ในทางตรงข้าม พื้นที่ที่มีกลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นใหม่เข้ามาอยู่กลับมีอัตราการประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินต่ำลงเป็นอย่างมาก ผู้วิจัยจึงได้วิเคราะห์สาเหตุไว้ว่ากลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นใหม่มักเข้าไปอยู่อาศัยและทำงานในชุมชนที่ตนมีความผูกพันทางสังคม และปัจจัยเกี่ยวกับการจ้างงาน (ปัจจัยทางเศรษฐกิจ) กลับกลายเป็นตัวดึงรั้งการเกิดการเสียระเบียบทางสังคม (social disorganization) (Ferraro 2016)
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ค้นพบว่าแม้ในหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาจะมีประชากรมากขึ้นแต่จำนวนอาชญากรรมกลับลดลง โดยอาชญากรรมไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับเมืองที่มีผู้อพยพถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าเมืองดังกล่าวจะมีชุมชนของผู้อพยพมาเป็นเวลานานแล้วหรือไม่ (Ferraro2014) และเมืองที่มีอัตราการประกอบอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงและอาชญากรรมต่อทรัพย์สินสูงที่สุดกลับไม่ใช่เมืองที่มีผู้อพยพมากที่สุดหรือหนาแน่นที่สุดเลย(Frohlich, Stebbins & Sauter 2015) นอกจากจะไม่มีความสัมพันธ์ใดๆแล้วในบางงานวิจัยกลับค้นพบว่าในเมืองที่มีจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นสูงขึ้น อัตราการประกอบอาชญากรรมกลับต่ำลง (McGeever และ Raffalovich 2009)
ท้ายที่สุดนี้ ยังมีงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่พยายามทดสอบสมมติฐานว่ากลุ่มชุมชนในพื้นที่ที่มีจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นมากจะมีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงเพราะความกดดันทางเศรษฐกิจ และจะสามารถลดจำนวนอาชญากรรมลงได้ถ้ากลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นสามารถเข้าถึงหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านสังคมได้ โดยผู้วิจัยค้นพบว่าการทำงานของหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านสังคมเป็นหนึ่งในปัจจัยเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้ผู้อพยพย้ายถิ่นประกอบอาชญากรรม โดยผู้อพยพที่สามารถเข้าถึงสวัสดิการการให้บริการทางสังคมได้จะมีความเป็นไปได้ที่จะก่ออาชญากรรมต่ำกว่าผู้อพยพย้ายถิ่นในชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงช่องทางการช่วยเหลือดังกล่าว(Vlez และ Lyons 2012) ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายทางเลือกในการลดปัจจัยด้านความกดดัน(strain) ทางเศรษฐกิจและสังคม และอาจรวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมด้วย
ทั้งนี้ บางท่านอาจมีข้อโต้แย้งว่าความแตกต่างของนโยบายในแต่ละประเทศและความสามารถของแต่ละประเทศในการช่วยเหลือผู้อพยพย้ายถิ่นให้สามารถปรับตัวในประเทศปลายทางได้อาจส่งผลให้ผู้อพยพย้ายถิ่นในแต่ละประเทศประกอบอาชญากรรมในสัดส่วนไม่เท่ากันหรือได้ผลลัพธ์ที่ต่างกันออกไป ดังนั้นจึงมีการทำงานวิจัยเปรียบเทียบขึ้นระหว่างเจ็ดประเทศเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างผู้อพยพถิ่นฐานและอาชญากรรม ทั้งในประเทศผู้อพยพ (ประเทศที่มีนโยบายค่อนค้างเสรีและเอื้อต่อการอพยพย้ายถิ่น ณ เวลานั้น) เช่น ประเทศออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ในประเทศที่ไม่สนับสนุนการอพยพย้ายถิ่นเสียเท่าไร ณ ขนาดนั้น เช่น ญี่ปุ่นและเยอรมนี และในประเทศที่มีลักษณะทั้งสองอย่าง เช่น สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส จากการวิจัยพบว่าประเทศที่มีนโยบายการอพยพย้ายถิ่นที่เข้มงวดมีอัตราการทำผิดของผู้อพยพย้ายถิ่นสูงกว่าประเทศที่มีนโยบายด้านการอพยพย้ายถิ่นที่เสรีเว้นแต่ประเทศฝรั่งเศสที่มีอัตราการประกอบอาชญากรรมโดยผู้อพยพย้ายถิ่นสูงกว่าประเทศที่ไม่สนับสนุนการอพยพย้ายถิ่น (Symon และ Lynch 1999)
สำหรับในประเทศไทยนั้นแม้ยังไม่มีงานวิจัยที่พิสูจน์ทฤษฎีข้างต้นอย่างครอบคลุม หรือพิสูจน์ว่าผู้อพยพมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชญากรรมมากกว่าคนท้องถิ่นตามทฤษฎีจริง แต่เป็นที่น่าสนใจว่านโยบายและกฎหมายของไทยในปัจจุบันล้วนแต่จะไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขอาชญากรรมตามทฤษฎีเหล่านี้เลย ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยและทำงานในพื้นที่มากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ โดยเป็นแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนโดยประมาณ 207,162 คน ในขณะที่มีประชากรท้องถิ่น 556,719 คน (ข้อมูลจากระบบสถิติทางการทะเบียน 2559) เมื่อมีปริมาณแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรท้องถิ่นย่อมก่อให้เกิดสังคมไร้ระเบียบตามทฤษฎี รวมถึงการปะทุขึ้นของความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างผู้อพยพถิ่นฐานและคนท้องถิ่น แม้ว่านโยบายที่ไม่ให้แรงงานต่างด้าวออกนอกเขตท้องที่จังหวัดที่ได้รับอนุญาตทำงาน จะทำให้ความเคลื่อนไหวและการสับเปลี่ยนของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่น้อยลง แต่ก็เป็นแค่ในช่วงระยะสั้นๆ เช่นในระยะเวลาไม่กี่ปี และถ้ามีโอกาสในการแสวงหางานอื่นๆคนกลุ่มนี้ก็พร้อมจะเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ไปหาโอกาสงานใหม่ๆ และลงทะเบียนในจังหวัดอื่นๆ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของคนอยู่เสมอ เพราะแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาในไทยเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจ (สิริรัฐ สุกันธา 2557) พวกเขาเหล่านี้จึงไม่มีความผูกพันกับพื้นที่หรือท้องถิ่น และมีแนวโน้มในการสร้างสังคมไร้ระเบียบที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมขึ้น รวมถึงพัฒนาไปเป็นวัฒนธรรมย่อยที่ใช้ความรุนแรงเนื่องจากอยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยตามทฤษฎี นอกจากนี้ นโยบายที่จำกัดไม่ให้แรงงานต่างด้าวออกนอกเขตท้องที่จังหวัดที่ได้รับอนุญาตทำงาน และการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ตลอดเวลา รวมถึงการจำกัดการเข้าถึงโอกาสการทำงานในบางประเภท และการเลือกปฏิบัติทางนโยบายบางประการ อาจนำไปสู่ความโกรธแค้น (frustration) และความกดดัน (strain) ซึ่งนำไปสู่การประกอบอาชญากรรม สุดท้ายนี้ ถ้าพิจารณาปัจจัยตามทฤษฎีความขัดแย้งทางวัฒนธรรมจะเห็นว่าในพื้นที่ที่มีผู้อพยพอยู่เยอะเช่นนี้จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมสูงและนำไปสู่การประกอบอาชญากรรมสูงเช่นกัน
ตามที่กล่าวมาข้างต้น พื้นที่ที่มีผู้อพยพอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นเช่นจังหวัดสมุทรสาครจึงควรเกิดอาชญากรรมเป็นอัตราสูงมากเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆที่มีจำนวนและความหนาแน่นของประชากรใกล้เคียงกันแต่มีสัดส่วนของผู้อพยพย้ายถิ่นน้อยกว่า อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาครในปีพ.ศ. 2555 พบว่าจากสถิติที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครกลับก่ออาชญากรรมในสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการก่อคดีของคนไทย ทั้งนี้ อาชญากรรมที่เกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่จะเป็นคดีทะเลาะวิวาทกันเองในกลุ่ม น้อยครั้งที่จะก่อคดีกับคนไทย โดยผู้ให้สัมภาษณ์เชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่แรงงานต่างด้าวถูกควบคุมให้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัด และเมื่อเลิกงานก็จะกลับเข้าที่พักและไม่ได้ออกไปไหนไกล และทุกครั้งที่ก่อคดีตำรวจสามารถติดตามจับกุมได้ถึงร้อยละ 80-90(คม ชัด ลึก 2555) นอกจากนี้ จากสถิติคดีอาญาที่อยู่ในการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ในปี 2559 พบว่า การแจ้งความอาชญากรรมทั้งในกลุ่มคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ กลุ่มคดีที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และกลุ่มคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ในจังหวัดสมุทรสาครกลับมีจำนวนต่ำกว่าจังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรใกล้เคียงกันเช่นจังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ แม้จังหวัดสมุทรสาครจะมีจำนวนแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นทางการไม่ต่างกับจังหวัดปทุมธานีนัก แต่มีอัตราส่วนระหว่างแรงงานต่างด้าวต่อประชากรในพื้นที่สูงกว่าจังหวัดปทุมธานีมาก และมีตัวเลขการแจ้งเหตุอาชญากรรมต่ำกว่าจังหวัดปทุมธานีมากเช่นกัน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2559)
อย่างไรก็ตามงานวิจัยอื่นๆของประเทศไทยในหัวข้อนี้ส่วนใหญ่จะเป็นในเชิงเพื่อทราบความคิดเห็นเสียมากกว่า เช่นความคิดเห็นของผู้ประกอบการและประชาชนที่มีต่อแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร โดยพบว่าปัจจัยต่างๆรวมถึงประสบการณ์ที่มีต่อแรงงานต่างด้าวและการรับรู้การกระทำผิดของแรงงานต่างด้าวที่ต่างกัน ทำให้มีทัศนคติต่อแรงงานต่างด้าวต่างกันโดยคนกลุ่มนี้ให้ข้อมูลว่าตนล้วนแต่เคยมีประสบการณ์พบเห็นการประกอบอาชญากรรมของแรงงานต่างด้าว โดยผู้ประกอบการเคยพบเห็นด้วยตนเองเสียส่วนใหญ่ แต่ประชาชนมักได้ยินเรื่องการประกอบอาชญากรรมผ่านสื่อไม่ใช่ด้วยตนเองโดยตรง (วิภารัตน์ เต็มภักดี 2551) หรือความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีต่อแรงงานชาวเมียนมา ซึ่งพบว่ากลุ่มตัวอย่างตอบว่ามีประสบการณ์รับแจ้งหรือเข้าจับกุมชาวเมียนมาที่ลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายถึงร้อยละ 94.7 รองลงมาคือการทำงานผิดประเภทและลักลอบค้าของเถื่อนที่ร้อยละ 70-80 โดยประมาณ ตามมาด้วยการลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ หรือทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 55 โดยประมาณ ฆ่าคนตาย ร้อยละ 40 โดยประมาณ และโดยสรุปกลุ่มตัวอย่างคิดเห็นว่าการประกอบอาชญากรรมของชาวเมียนมาอยู่ในระดับสูงและมองว่ารัฐควรมีบทลงโทษเด็ดขาดต่อการบุกรุกของชาวเมียนมา (ผดุงศักดิ์ กิจวานิชขจร 2545)นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความเห็นของประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวโดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าอาชญากรรมที่เกิดจากแรงงานต่างด้าว ได้แก่ การลักเล็กขโมยน้อย กินเหล้าเมาอาละวาด ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ มีโอกาสเกิดขึ้นกับตัวเอง และจากการสัมภาษณ์แรงงานต่างด้าวพบว่าเส้นทางการหลบหนีของแรงงานต่างด้าวที่ก่ออาชญากรรมจะใช้วิธีการหลบไปทำงานอยู่กับคนชาติเดียวกันภายในประเทศ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายเนื่องจากไม่มีการจัดทำประวัติแต่อย่างใด และยังพบว่าการดื่มสุราเป็นสาเหตุสำคัญในการก่ออาชญากรรมของแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะวิวาท การข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2556 อ้างถึงใน สุพรรณี พุทธัง, 2553, หน้า 49)
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาปัจจัยอันเป็นสาเหตุการกระทำความผิดของแรงงานต่างด้าวโดยเน้นศึกษาผู้ต้องขังที่เป็นผู้อพยพย้ายถิ่น เช่นการศึกษากระทำความผิดของลูกจ้างชาวเมียนมาเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อชีวิตและร่างกายของนายจ้าง โดยศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำในเขตกรุงเทพมหานคร และได้สรุปไว้ว่าสาเหตุสำคัญของการกระทำความผิดของลูกจ้างชาวเมียนมาเกิดจากพฤติกรรมของนายจ้างผู้ตกเป็นเหยื่อที่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง และทำร้ายร่างกายลูกจ้างก่อนจนลูกจ้างเกิดบันดาลโทสะและกระทำความผิดขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดจากความโกรธแค้นเมื่อขาดแคลนเงินค่าจ้างที่พึงจะได้รับ รวมทั้งเกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (บุษญารัตน์ วงศ์ลักษณพันธ์ 2548) หรือการศึกษาเส้นทางชีวิตของแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาที่ก่อคดีอาชญากรรมซึ่งพบว่าแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ที่เข้ามาในประเทศไทยมีเป้าหมายที่สำคัญคือการเก็บเงินเก็บทอง โดยไม่มีความผูกพันกับสังคมและชุมชนที่อยู่อาศัย แต่เมื่อมีโอกาสก็จะเข้าสู่เส้นทางการกระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจสำคัญ เช่น สภาพทางเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจน สภาพแวดล้อมทางสังคมและเพื่อน ไม่มีงานไม่มีรายได้ หรือเพราะอารมณ์ชั่ววูบ (สุพรรณี พุทธัง 2553) นอกจากนี้ได้มีการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกระทำความผิดของผู้ต้องขังชาวเมียนมาในเรือนจำจังหวัดระนองด้วยเช่นกันและพบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้กระทำความผิด ได้แก่ ความต้องการร่ำรวยด้วยวิธีการทางลัดกลุ่มอิทธิพลเสนอให้สิ่งตอบแทนในการกระทำผิดที่สูง การเสพสิ่งมึนเมามีหรือการมีปัญหาขัดแย้งผู้ตาย/ ผู้เสียหาย (ยอดขวัญ สุขดวง2556) ทั้งนี้จะเห็นว่าปัจจัยส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับทฤษฎีหลายประการโดยเฉพาะทฤษฎีความกดดันทางสังคม และทฤษฎีสังคมไร้ระเบียบ
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าผู้อพยพย้ายถิ่นมีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมที่ไม่ใช่การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายสูงกว่าพลเมืองท้องถิ่นในประเทศไทยยังหาได้ยาก งานวิจัยบางชิ้นแม้จะมุ่งหาปัจจัยการกระทำความผิดของคนกลุ่มนี้ แต่ก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าโดยรวมแล้วปัจจัยดังกล่าวต่างจากปัจจัยการประกอบอาชญากรรมของคนท้องที่หรือไม่และทำให้สัดส่วนอาชญากรรมสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับปริมาณประชากรโดยรวมในท้องที่หรือไม่ เพื่อพิสูจน์สมมติฐานที่ว่าการอพยพย้ายถิ่นมีผลต่ออาชญากรรมและผู้อพยพย้ายถิ่นมีแนวโน้มการประกอบอาชญากรรมสูงกว่าพลเมืองทั่วไปจริง
การอพยพย้ายถิ่นฐานไม่มีผลต่ออาชญากรรม?
ตามที่ได้อธิบายข้างต้น หนึ่งในสาเหตุหลักที่มักถูกนำมาอธิบายสาเหตุว่าทำไมผู้อพยพถึงมีแนวโน้มในการประกอบอาชญากรต่ำคือเพราะบุคคลเหล่านี้มีเป้าหมายหลักในการอพยพถิ่นฐานเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ และมักจะตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงินมากกว่าโดยทฤษฎีที่สามารถนำมาอธิบายข้อค้นพบดังกล่าวคือทฤษฎีความมีเหตุมีผลที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง(Self-Selection Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่นำมาปรับใช้ในศาสตร์อาชญาวิทยาและให้คำอธิบายว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำในหมู่ผู้อพยพถิ่นฐานที่พึ่งอพยพถิ่นฐานเข้าไปยังประเทศปลายทางเป็นเพราะว่ากลุ่มผู้อพยพถิ่นฐานเหล่านี้เลือกที่จะทุ่มเทกับโอกาสทางด้านเศรษฐกิจให้กับตัวเอง โดยมองว่าคนที่ออกมาจากบ้านเกิดเมืองนอนและเดินทางไปยังประเทศปลายทางเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่แล้วจะขยันทำมาหากิน โดยมีเป้าหมายในการทำงานและรายได้ในระยะยาว คนกลุ่มนี้เลยจะปฏิบัติตัวอยู่ในระเบียบและหลีกเลี่ยงการกระทำที่ละเมิดกฎหมายโดยผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะเป็นตัวฉุดรั้งกลุ่มคนเหล่านี้จากการประกอบอาชญากรรมแม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศปลายทางไม่ราบรื่นส่วนคนที่ประกอบอาชญากรรมหรือมีรายได้มาจากแหล่งที่ผิดกฎหมายในประเทศตัวเองก็มักจะตัดสินใจอยู่ที่เดิมไม่อพยพถิ่นฐานเพื่อที่จะไม่ต้องมาเสี่ยงกระทำผิดในสภาวะกฎหมายที่ไม่คุ้นเคย (Butcher and Piehl 2005)
ทั้งนี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกามีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการประกอบอาชญากรรมในกลุ่มผู้อพยพรุ่นที่สองกลับมีอัตราสูงกว่ากลุ่มผู้อพยพรุ่นที่หนึ่ง (Sampson, Morenoff, และ Raudenbush 2005) ปรากฏการณ์นี้อาจสามารถทำความเข้าใจได้โดยใช้ทฤษฎีSelf-Selection เพราะลูกหลานของผู้อพยพถิ่นฐานไม่ได้มีเจตจำนงเช่นรุ่นพ่อแม่ (self-select) และยังอาจต้องเผชิญความท้าทายต่างๆในประเทศปลายทางเช่น การขาดการศึกษาที่เหมาะสม ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือความขัดแย้งทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่ค้นพบว่าสำหรับรุ่นลูกหลานแล้ว ถ้าเกิดคนเหล่านี้เติบโตมาในชุมชนที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หลักความไร้ระเบียบทางสังคม (social disorganization) อาจจะเป็นตัวแปรในให้หันมาประกอบอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานของผู้อพยพถิ่นฐานจากประเทศไหนก็ตาม (Bersani, Loughran, และ Piquero 2014) อย่างไรก็ตาม อัตราการก่ออาชญากรรมของบรรดากลุ่มผู้อพยพรุ่นที่สองนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคนท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด (Bersani 2012; 2013)
นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายอื่นๆที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ เช่น ผู้อพยพย้ายถิ่นในปัจจุบันอาจไม่ได้ก่อให้เกิดความไร้ระเบียบในชุมชนแต่กลับช่วยทำให้ชุมชนดังกล่าวมั่นคงขึ้นผ่านการสร้างองคาพยบทางสังคมและเศรษฐกิจใหม่ๆขึ้นมา (Martinez และ Lee 2000) เพราะผู้อพยพส่วนใหญ่จะทำงานกับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและรับจ้างทั่วไปในชุมชน ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้น (Aponte 1996)และยังมีการค้นพบว่าการอพยพยังทำให้พื้นที่ในชุมชนดังกล่าวเฟื่องฟูขึ้นมาเพราะเป็นการกระตุ้นการค้าในหมู่ผู้อพยพเม็กซิกันที่เป็นกลุ่มชนชั้นล่างสุดอีกด้วย (Stansfield, Akins, Rumbaut และ Hammer 2013)
อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจคือประเทศเยอรมนีที่อัตราการประกอบอาชญากรรมโดยผู้อพยพเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในปีพ.ศ.2559 โดยการเพิ่มดังกล่าวไม่ได้สัดส่วนกับปริมาณผู้อพยพที่ไหลทะลักเข้าไปในประเทศเยอรมนีเลย แต่ทั้งนี้ พบว่าบรรดาผู้ลี้ภัยจากซีเรียหรือพื้นที่สงครามกลับมีอัตราการประกอบอาชญากรรมต่ำ เพราะการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัยในเยอรมนี แต่กลุ่มที่ประกอบอาชญากรรมสูงอย่างแท้จริงคือเหล่าคนจากประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่าน โมร็อคโค และอดีตสหภาพโซเวียต ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะได้สถานะผู้ลี้ภัยต่ำ (Huggler 2017) ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์นักอาชญาวิทยานาย Christian Pfeiffer ได้ให้ความเห็นว่ากลุ่มบุคคลที่ถูกปฏิเสธการได้สถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการในประเทศเยอรมนีนั้นจะไม่สามารถเข้าเรียนภาษา และชั้นเรียนเกี่ยวกับการปรับตัวในประเทศปลายทางได้ ดังนั้นจึงเกิดการแบ่งแยกผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่มีสิทธิได้รับสถานะผู้ลี้ภัยสูง และกลุ่มมีสิทธิได้สถานะผู้ลี้ภัยต่ำ (Gopalakrishnan 2017) ทั้งนี้ เหตุการณ์นี้อาจเป็นหนึ่งภาพสะท้อนตามทฤษฎี Self-selection เพราะกลุ่มที่อาจไม่ได้สถานะหรือถูกปฏิเสธสถานะผู้ลี้ภัยอาจขาดซึ่งเป้าหมายในชีวิต หรือเหตุผลที่เลือกมาอพยพในประเทศปลายทาง และเมื่อขาดตัวยึดเหนี่ยวปัจจัยอื่น ความกดดัน และความโกรธแค้นอาจมีอำนาจเหนือกว่าและเป็นตัวผลักดันให้ประกอบอาชญากรรม
นอกจากนี้นาย Christian Pfeiffer ยังกล่าวอีกว่าเมื่อปี 2553 กว่า 70% ของประชากรในประเทศเยอรมนีมีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่จำนวนผู้อพยพลี้ภัยส่วนใหญ่ที่เข้ามาตั้งแต่ปี 2558 นั้นมีอายุระหว่าง18-30 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุหลักที่มีความเสี่ยงจะประกอบอาชญากรรมทั่วโลก ซึ่งสามาถนำมาอธิบายได้ว่าทำไมคนเยอรมนี 100 คนถึงมีอัตราการก่ออาชญากรรมต่ำกว่าผู้ลี้ภัย 100 คน นั่นก็เพราะคนเยอรมันมีค่าเฉลี่ยอายุที่สูงกว่าและมีสัดส่วนผู้หญิงที่มากกว่านั่นเอง (Gopalakrishnan 2017)
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงเช่นกันที่ทฤษฎีนี้จะมาปรับใช้กับประเทศไทยได้เนื่องจากผู้อพยพย้ายถิ่นส่วนใหญ่ในประเทศไทยคือแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านโดยสาเหตุการย้ายถิ่นของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ประกอบด้วย ปัจจัยด้านการเมือง คือ สถานการณ์ภายในประเทศเพื่อนบ้าน และปัจจัยด้านเศรษฐกิจ คือ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่แตกต่างกัน (สำนักสภาความมั่งคงแห่งชาติ 2558) ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งค้นพบว่าแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาในไทยเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยปัจจัยที่มีส่วนดึงดูดให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย 3 ลำดับแรก ได้แก่ การมีงานให้เลือกทำได้มาก การมีค่าจ้างแรงงานที่สูงเมื่อเทียบกับการทำงานในประเทศตนเองและความต้องการมีรายได้ที่มั่นคงเพื่อที่จะได้ส่งเงินกลับไปให้ พ่อ แม่ และญาติๆ ได้อย่างต่อเนื่อง (เช่น สิริรัฐ สุกันธา 2557 และ สนิท สัตโยภาส 2559)แต่ทั้งนี้งานวิจัยในประเทศไทยที่พิสูจน์ทฤษฎีนี้อย่างชัดเจนยังไม่มีแต่จากผลที่ได้รับจากงานวิจัยไทยที่กล่าวมาในบทข้างต้นก็เป็นที่น่าขบคิดว่าในเมื่อหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักให้ผู้อพยพย้ายถิ่นประกอบอาชญากรรมคือการถูกนายจ้างกดขี่และไม่ได้ค่าจ้าง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจสามารถเทียบเคียงได้กับการเสียเป้าหมายสำคัญที่ทำให้ไม่กระทำผิดแล้วหรือไม่ เพราะการจ้างงานและเงินเดือนเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งไม่ให้ผู้อพยพกระทำผิดตามทฤษฎี เหตุนี้อาจทำให้ปัจจัยความกดดันและความโกรธแค้นมีอำนาจเหนือกว่านอกจากนี้เมื่อพิจารณาตามทฤษฎี Self-selection แล้วก็เป็นที่น่ากังวลว่านโยบายรัฐในเชิงกดดันหรือจำกัดโอกาสการทำงานต่างๆของแรงงานต่างด้าวอาจจะให้ผลกระทบในทางตรงกันข้าม เพราะเป็นการทำลายปัจจัยหลักที่เป็นเหตุผลให้อัตราการประกอบอาชญากรรมในหมู่แรงงานต่างด้าวต่ำเช่นกัน และอาจเป็นการกระตุ้นปัจจัยอื่นๆเช่นความกดดัน ความโกรธแค้น หรือความไร้ระเบียบ เป็นต้น
ปัจจัยในการก่ออาชญากรรมของผู้อพยพย้ายถิ่น
อย่างไรก็ตาม การจะสรุปว่าผู้อพยพไม่มีส่วนในอาชญากรรมสิ้นเชิงและละเว้นปัจจัยดังกล่าวไปจากการศึกษาสาเหตุการประกอบอาชญากรรมก็อาจจะไม่ถูกต้องนักเพราะถึงแม้แนวโน้มการประกอบอาชญากรรมจากคนกลุ่มนี้จะต่ำตามที่ระบุในงานวิจัยต่างๆ แต่ถ้าปรากฏการณ์ไหลบ่าเข้าประเทศของผู้อพยพสูงขึ้นก็หมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาชญากรรมสูงขึ้นเช่นกัน ปัญหาที่ควรพิจารณาที่แท้จริงคือในหมู่ผู้อพยพย้ายถิ่นเหล่านี้ คนกลุ่มไหนที่มีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรม และอะไรคือสาเหตุที่บุคคลดังกล่าวประกอบอาชญากรรม (Mears 2002)โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะผันตัวเองไปเป็นอาชญากรเมื่อเข้ามาสู่ประเทศไทยหรือการอพยพย้ายถิ่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้ย้ายถิ่นกระทำอาชญากรรมมากกว่าในกรณีที่ไม่มีการอพยพย้ายถิ่นหรือไม่พูดอีกอย่างหนึ่งคือผู้ประกอบอาชญากรรมที่เป็นผู้อพยพย้ายถิ่นเป็นอาชญากรอยู่แล้วก่อนที่จะอพยพย้ายถิ่น เริ่มประกอบอาชญากรรมเมื่อเข้ามาสู่ประเทศปลายทางแล้วเพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆในประเทศปลายทาง เช่นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือกลายมาเป็นอาชญากรเพราะกระบวนการอพยพย้ายถิ่นส่งผลกระทบต่อสังคม
การเข้าใจถึงจุดเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ของการอพยพย้ายถิ่นและอาชญากรรมมีความสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในการกำหนดนโยบายของรัฐ การควบคุมจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นและจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของคนกลุ่มนี้อาจสมเหตุสมผลในบางมุมและอาจช่วยลดจำนวนอาชญากรรมได้จำนวนหนึ่งก็จริงเพราะมีคนข้ามพรมแดนมาน้อยลงหรือมีการเคลื่อนไหวไปยังจุดต่างๆน้อยลง แต่กลับเกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และแม้จะอนุมานว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถควบคุมอาชญากรรมได้จริง แต่ควรจะพิจารณาว่านโยบายที่มีเป้าหมายชัดเจนและสะท้อนต่อปัญหาและสาเหตุที่แท้จริงในการก่ออาชญากรรม เช่น การเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือในการปรับตัวของผู้อพยพในถิ่นที่อยู่ใหม่และในวัฒนธรรมใหม่ ก็อาจส่งผลในการลดอาชญากรรมได้เช่นเดียวกันโดยไม่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
งานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาเผยให้เห็นว่าในหมู่ผู้อพยพต่างๆมีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรมต่างกันตามกลุ่มของผู้อพยพ (Tonry 1997; Waters 1999) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุ เชื้อชาติ ระยะเวลาที่อพยพมาในพื้นที่ โดยค้นพบว่าผู้อพยพในช่วงวัยรุ่นไม่ว่าจะมีเชื้อชาติอะไรก็มีความเป็นไปได้ในการใช้ความรุนแรงสูง แต่เมื่อคนกลุ่มนี้สูงอายุขึ้นและมีสัดส่วนของชายหนุ่มน้อยลง อัตราอาชญากรรมร้ายแรงในพื้นที่จะลดลงอย่างรวดเร็ว(Martinez และ Lee2000) ในขณะที่กลุ่มผู้อพยพรุ่นที่ 3 นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะก่ออาชญากรรมสูงกว่ารุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 2 ก็มีความเป็นไปได้ที่จะก่ออาชญากรรมสูงกว่ารุ่นที่ 1 เป็นต้น (Sampson, Morenoff, และ Raudenbush 2005)
นอกจากนี้ในประเทศกรีซยังพบว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมทางด้านทรัพย์สินผ่านการสำรวจด้วยการรายงานตนเอง (Self-reported Crime) แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผู้อพยพย้ายถิ่นต้องเผชิญในแต่ละพื้นที่และความสัมพันธ์ระหว่างผู้อพยพย้ายถิ่นและพลเมืองท้องถิ่นอาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมการก่ออาชญากรรม (Papadopoulos 2010)
อนึ่ง ประเทศไทยนั้นมีการวิจัยเชิงสังคมวิทยาเกี่ยวการใช้ชีวิตและการปรับตัวของแรงงานต่างด้าวอยู่บ้าง(เช่น สนิท สัตโยภาส 2559) รวมทั้งปัญหาทางสังคมที่เกิดจากการจ้างแรงงานต่างด้าว (เช่น สมพร พรทิพย์เสถียร 2546)โดยพบว่า แรงงานต่างด้าวเพศชายจะก่อปัญหาสังคมสูงกว่าแรงงานต่างด้าวเพศหญิงแรงงานต่างด้าวที่มีอายุน้อยจะก่อปัญหาสังคมสูงกว่าแรงงานต่างด้าวที่มีอายุมากแรงงานต่างด้าวที่มีรายได้ต่ำจะก่อปัญหาสังคมสูงกว่าแรงงานต่างด้าวที่มีรายได้สูงแรงงานต่างด้าวที่มีระยะเวลาการทำงานนานจะก่อปัญหาสังคมสูงกว่าแรงงานต่างด้าวระยะเวลาการทำงานไม่นานแรงงานต่างด้าวที่ทำงานให้หน่วยงานที่มีแรงงานจำนวนมากจะก่อปัญหาสังคมสูงกว่าแรงงานต่างด้าวที่ทำงานให้หน่วยงานที่มีแรงงานจำนวนน้อย ผลดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยด้านอาชญาวิทยาในต่างประเทศหลายประการเช่น ในประเด็นของรายได้และระยะเวลาการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้ทางอาชญาวิทยานั้นก็ได้มีการศึกษาถึงปัจจัยการก่ออาชญากรมเช่นกันตามที่ได้กล่าวไปด้านบนแล้ว โดยปัจจัยที่สำคัญที่ได้จากงานวิจัยได้แก่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม การอยู่ภายใต้ความกดดัน ปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และการเสพของมึนมา อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่าปัจจัยการประกอบอาชญากรรมเหล่านี้แตกต่างจากปัจจัยที่กระตุ้นให้บุคคลทั่วไปประกอบอาชญากรรมหรือไม่? โดยเฉพาะเมื่อการศึกษาจำกัดอยู่แค่ในหมู่ผู้ต้องขังที่เป็นผู้อพยพและไม่ได้เปรียบเทียบกับผู้ต้องขังที่เป็นคนท้องที่ที่อยู่อาศัยในสภาวะแวดล้อมและภายใต้ความกดดันใกล้เคียงกัน เพื่อพิจารณาว่าปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อผู้อพยพถิ่นฐานเป็นการเฉพาะอันเป็นการพิสูจน์สมมติฐานว่าผู้อพยพย้ายถิ่นมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการประกอบอาญากรรมเป็นการเฉพาะตามทฤษฎีหรืออันที่จริงแล้วปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อพลเมืองท้องถิ่นโดยเท่าเทียมกัน
ผู้อพยพย้ายถิ่นในฐานะที่เป็นเหยื่อเสียเอง
อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือผู้อพยพย้ายถิ่นในมุมที่เป็นเหยื่ออาชญากรรมเสียเองโดยผู้อพยพย้ายถิ่นโดยเฉพาะกลุ่มที่อพยพมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มักจะหวาดกลัวที่จะไปร้องทุกข์กล่าวโทษหรือดำเนินคดี ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และมักเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติ การถูกแสวงหาผลประโยชน์ (OHCHR2017)
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันทฤษฎีนี้ โดยนอกจากจะเป็นเหยื่อของการละเมิดกฎหมายแล้วคนกลุ่มนี้กลับไม่ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆเพราะพวกเขาต้องการหาเงินและกลัวว่าการแจ้งความจะทำให้ข้อเท็จจริงที่ว่าตนเข้ามาโดยผิดกฎหมายถูกเปิดโปงและจะสูญเสียงานไป (Gleeson 2010) โดยอาชญากรรมที่ผู้อพยพย้ายถิ่นตกเป็นเหยื่อได้แก่ การถูกโกงค่าจ้าง (41%) การถูกกลั่นแกล้งในสถานที่ทำงานโดยนายจ้าง (22%) การถูกลักทรัพย์ (10%) และถูกทำร้าย (9%) (Fussell2011)
งานวิจัยของไทยเองก็พบว่า แรงงานต่างด้าวเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อการถูกแสวงหาประโยชน์และละเมิดสิทธิในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากเจ้าหน้าที่ นายหน้าที่พาเข้าฝั่งไทยหรือนายจ้างที่พวกเขาสมัครเข้าทำงาน (สนิท สัตโยภาส 2559) ทั้งทางร่างกาย วาจา และจิตใจ รวมทั้งการล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงหรือการทำร้ายร่างกาย (อดิศร เกิดมงคล 2552)
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้มาจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ. หรือ Human Rights and Development Foundation) พบว่าในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2559 มสพ.ได้รับคำร้องเรียน 58 คำร้องจากแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย โดยครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นการละเมิดกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง อุบัติเหตุจากการทำงาน เอกสารประกอบการทำงาน การค้ามนุษย์ คนหาย และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยหลายกรณีจบลงด้วยการไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และมีการจ่ายค่าชดเชยรวมแล้วกว่า 4,317,732 บาทอย่างไรก็ตามในช่วงระหว่าง วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2560 มสพ.ได้รับคำร้องเรียนถึง158 คำร้อง ในประเด็นที่มีลักษณะคล้ายกับปี 2559 โดยหลายกรณีจบลงด้วยการไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเช่นเดียวกัน และมีการจ่ายค่าชดเชยไปแล้วกว่า 3,425,533.50 บาท
สรุป
แม้ว่าจะมีเหตุผลทางทฤษฎีมากมายที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่าผู้อพยพย้ายถิ่นมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชญากรรมสูงกว่าพลเมืองท้องถิ่นเพราะบุคคลดังกล่าวต้องประสบปัญหาและความยากลำบากกว่าพลเมืองทั่วไป และมีแนวโน้มจะอยู่อาศัยในบริเวณที่ไร้ระเบียบที่เป็นที่อาศัยของคนยากจน เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม มีสัดส่วนเป็นชายหนุ่มเยอะ อาจรวมตัวกันในรูปแบบแก๊งเพื่อก่ออาชญากรรมได้ง่าย รวมถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมบางอย่างอาจจะขัดต่อกฎหมายภายในประเทศปลายทางที่กำหนดโดยพลเมืองท้องถิ่น แต่กลับมีสถิติและงานวิจัยมากมายที่พบว่าผู้อพยพย้ายถิ่นไม่ได้เพิ่มอัตราการประกอบอาชญากรรมในท้องที่เลย อีกทั้งในบางพื้นที่กลับลดอัตราการประกอบอาชญากรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นเสียด้วย และในเวลาเดียวกับกลับกลายเป็นเหยื่อที่ไม่กล้าดำเนินคดีอาญาเสียเองเพราะกลัวว่าจะสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพในประเทศปลายทางไป
ทั้งนี้เป็นที่น่าเสียดายที่กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นมักถูกร่างมาด้วยความเชื่อนี้มากกว่าข้อมูลจากงานวิจัยที่เชื่อถือได้ ซึ่งทำให้เหล่าผู้อพยพย้ายถิ่นมักถูกตราหน้าว่าเป็นภัยและเป็นอาชญากร โดยมีความผิดหลายอย่างที่สร้างขึ้นมาเพื่อบังคับใช้กับผู้อพยพย้ายถิ่นโดยเฉพาะ และการผลักดันกลับประเทศกลายเป็นบทลงโทษแม้กับการกระทำความผิดลหุโทษ การหยุดการอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกลับใช้วิธีการลงโทษมากกว่าวิธีที่เป็นเหตุเป็นผลในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ผลจากการวิจัยในต่างประเทศอาจไม่สามารถนำมาปรับใช้และอธิบายสถานการณ์ในประเทศไทยได้เสมอ เนื่องจากปัจจัยต่างๆในช่วงเวลาต่างๆ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอเสนอแนะให้มีการจัดทำงานวิจัยในหัวข้อเหล่านี้โดยละเอียด ครอบคลุม เป็นกลาง และทันสมัย
ข้อเสนอแนะ
อ้างอิง
Aponte, Robert. 1996. Urban unemployment and the mismatch dilemma: Accounting forthe immigration exception. Social Problems 43 (August): 268–283.
Bernat, F. (2017), Immigration and Crime, Oxford Research Encyclopedia of Criminology and Criminal Justice, http://criminology.oxfordre.com/view/10.1093/acrefore/9780190264079.001.0001/acrefore-9780190264079-e-93
Bersani, E. (2012). An examination of first and second generation immigrant offending trajectories. Justice Quarterly.
Bersani, B. E., DiPietro, S. M. (2013). An examination of the “marriage effect” on desistance from crime among U.S. Immigrants (Technical Report).
Bersani, B. E., Loughran, T. A., & Piquero, A. R. (2014). Comparing patterns and predictors of immigrant offending among a sample of adjudicated youth. Journal of Youth Adolescence, 43, 1914–1933.
Butcher, K. & Piehl, A. (2005). Why are Immigrants’ Incarceration Rates So Low? Evidence on Selective Immigration, Deterrence, and Deportation. Federal Reserve Bank of Chicago, WP 2005-19
Chiricos, T., Stupi, E. K., Stults, B. J., & Gertz, M. (2014). Undocumented immigrant threat and support for social controls. Social Problems, 61(4), 673–692.
Equal Rights Trust (“ERT”), Unravelling Anomaly: Detention, Discrimination and the Protection Needs of Stateless Persons, at 15-27 (2010).
Ferraro, V. A. (2014). Immigrants and crime in the new destinations. LFB Scholarly Publications.
Ferraro, V. (2016). Immigration and crime in the new destinations, 2000–2007: A test of the disorganizing effect of migration. Journal of Quantitative Criminology, 32, 23–45.
Frohlich, T. C., Stebbins, S., & Sauter, M. B. (July 15, 2015). America’s most violent (and most peaceful) states.http://247wallst.com/special-report/2015/07/15/americas-most-violent-and-most-peaceful-states/
Fussell, E. (2011). The deportation threat dynamic and victimization of Latino migrants: Wage theft and robbery. The Sociological Quarterly, 52, 593–615.
Gleeson, S. (2010). Labor rights for all? The role of undocumented immigrant status for worker claims making. Law & Social Inquiry, 35, 561–602.
GopalakrishnanM. (2017). Germany Guide for Refugee: Are refugees more criminal than the average German citizen?. Deutsch Welle (DW).
Huggler, J. (2017). Migrant crime in Germany rises by 50 per cent, new figures show. The Telegraph (25 April 2017).
Martinez, Ramiro, Jr., and Matthew T. Lee. (2000). On immigration and crime. The nature of crime: Continuity and change, edited by Gary LaFree, vol. 1 of Criminal justice 2000. Washington, D.C.: National Institute of Justice.
Mears, Daniel P. (2001). The immigration-crime nexus: Toward an analytic framework for assessing and guiding theory, research, and policy. Sociological Perspectives 44(1):1-19.
Mears, Daniel P. (2002). Immigration and Crime: What's the Connection?. Federal Sentencing Reporter.
Melvin, D. (2016). Protests in Europe target migrants. CNN. 7 February 2016. http://edition.cnn.com/2016/02/06/ europe/europe-anti-migrant-protests/index.html
National Commission on Law Observance and Enforcement. (1931). Report on Crime and the Foreign Born. Report No. 10.Washington, DC: U.S. Government Printing Office
Office of the High Commissioner for Human Rights (OHCHR). (Accessed on 29 November 2017)Migration and Human Rights. http://www.ohchr.org/EN/Issues/Migration/Pages/MigrationAndHumanRightsIndex.aspx
Papadopoulos, G. et al, 2010. Occupational and public health and safety in a changing work environment: An integrated approach for risk assesment and prevention. In Safety Science, Vol. 48, pp.943-949.
Sampson, R. J., Morenoff, J. D., & Raudenbush, S. (2005). Social anatomy of racial and ethnic disparities in violence. American Journal of Public Health, 95(2), 224–232.
Sellin,Thorsten. (1938). Culture Conflict and Crime. American Journal of Sociology. Vol. 44. No. 1 (Jul., 1938).
Shaw, C. R., & McKay, H. D. (1942). Juvenile delinquency in urban areas. Chicago: University of Chicago Press.
Simon, R., Lynch, J (1999). A Comparative Assessment of Criminal Involvement Among Immigrants and Natives Across Seven Nations, International Criminal Justice Review, Vol 9
Stansfield, R., Akins, S., Rumbaut, R. G., & Hammer, R. B. (2013). Assessing the effects of recent immigration on serious property crime in Austin, Texas. Sociological Perspectives, 56(4), 647–672.
TNews, อย่างหล่อ !!! "เซบาสเตียน เคิร์ซ" ว่าที่ประธานาธิบดีออสเตรีย วัย 31 ปี อายุน้อยที่สุดในโลก, 16 ตุลาคม 2560, http://www.tnews.co.th/contents/368565
UN Population Division. (2015). Trends in International Migrant Stock: Migrants by Destination and Origin. United Nations database. POP/DB/MIG/Stock/Rev.2015. http://www.un.org/en/development/desa/population/ migration/data/estimates2/estimates15.shtml.
Vitiello, A.(2013). Immigration: a Multilateral Phenomenon. 28 Dec 2013. One Europe. http://one-europe.net/ immigration-a-multilateral-phenomenon
Waters, Tony. (1999). Crime and immigrant youth. Thousand Oaks, CA: Sage.
กรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (2560). สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน คงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือน ตุลาคม 2560. https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/alien_th/3aa70ebcc48e240dea288fb9315bb859.pdf
คม ชัด ลึก. (2555).'โฟกัส'แรงงานพม่ากับผู้การมหาชัย. 12 ส.ค. 2555. http://www.komchadluek.net/news/ crime/137389
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์, การคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว กับ ความมั่นคงของรัฐไทย, ประชาไท, 16 กันยายน 2552
บุษญารัตน์ วงศ์ลักษณพันธ์. (2548). การกระทำความผิดของลูกจ้างชาวพม่าเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายของนายจ้าง: ศึกษากรณีผู้ต้องขังในเรือนจำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล.กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้จัดการรายวัน (2550).ปัญหาหลบหนีเข้าเมือง ภัยที่คุกคามความมั่นคง. 27 พฤษภาคม 2550.http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000061044
ผดุงศักดิ์ กิจวานิชขจร.(2545).ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่มีต่อการประกอบอาชญากรรมของชาวพม่า : ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ . สำนักหอสมุด
เพทาย จันทรไพร (2547).ความคิดเห็นของผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาครต่ออาชญากรรมที่เกิดจากแรงงานต่างด้าว.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. สำนักหอสมุด
โพสต์ทูเดย์. เอาจริง? สหรัฐฯสร้างต้นแบบกำแพงชายแดนเม็กซิโก.1 กันยายน 2560.https://www.posttoday.com/world/news/512428
ยอดขวัญ สุขดวง. (2556).ปัจจัยที่มีผลต่อการกระทำความผิดของผู้ต้องขังชาวพม่าในเรือนจำจังหวัดระนอง.มหาวิทยาลัยบูรพา
วิภารัตน์ เต็มภักดี (2551). ความคิดเห็นของผู้ประกอบการและประชาชนที่มีต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวใน จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.
สิริรัฐ สุกันธา.(2557).การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย. 2016 วารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สนิท สัตโยภาส. (2559).แรงงานต่างด้าวกับความมั่นคงทางสังคม.วารสารบัณฑิตวิจัย ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 ม.ค. – มิ.ย. 2559
สำนักงานสถิติแห่งชาติ.(2559).สถิติการรับแจ้งและการจับกุมรายจังหวัด. (Accessed on 29 November 2017). http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/09.aspx
สำนักสภาความมั่งคงแห่งชาติ (2558).นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ2558-2564.http://www.nsc.go.th/Download1 /policy58.pdf
สมพร พรทิพย์เสถียร. (2546). ปัญหาสังคมที่เกิดจากการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ตลาดสี่มุมเมืองจังหวัดปทุมธานี.วิทยานิพนธ์สังคมวิทยามหาบัณฑิต, สาขาสังคมวิทยา,บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุพรรณี พุทธัง. (2553). เส้นทางชีวิตแรงงานต่างด้าวชาวพม่าคดีอาชญากรรม:กรณีศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดระนอง.ระนอง: เรือนจำจังหวัดระนอง.
เอแบคโพลล์. (2549). ความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ/แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานรับจ้าง/ใช้แรงงานในประเทศไทย. RYT9.http://www.ryt9.com/s/abcp/58416
อดิศร เกิดมงคล. (2552). แรงงานข้ามชาติจากพม่าในประเทศไทย: มองผ่านนโยบายรัฐไทยและประเด็นสิทธิมนุษยชน. บทความนำเสนอในงานประชุม Asia Human Right ครั้งที่ 4, 17 กุมภาพันธ์ 2552. มหาวิทยาลัยโซล ประเทศเกาหลีใต้
H O M E
A B O U T
O U R T E A M
Nathee Chitsawang
Copyright 2016 | All Rights Reserved.