บทความ

อาชญากรรมคอปกขาวในงานจัดซื้อจัดจ้าง

ภีมกร โดมมงคล

 

     ในปัจจุบันงานจัดซื้อจัดจ้าง(Purchasing) มีบทบาทอย่างมากต่อการเพิ่มผลกำไรและการสร้างการได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่กระบวนการทางธุรกิจในภาคเอกชน ซึ่งหมายถึงการสร้างการสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อการลดต้นทุนในด้านการจัดหา (Sourcing) วัตถุดิบ อุปกรณ์ เครื่องจักร งานบริการ เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าและบริการโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจ ของลูกค้าและเพื่อนำมาซึ่งผลกำไรและยอดขายตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ของฝ่ายขายและการรักษาความสัมพันธ์อันยาวนาน และความจงรักษ์ภักดีจากลูกค้าต่อสินค้าและบริการของแต่และองค์กร ในส่วนของภาครัฐเองงานหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างถือเป็นหน่วยงานที่ภาครัฐให้ความสำคัญต่อบทบาทและหน้าที่มีต่อการบริหารจัดการและการให้บริการแก่ประชาชน อันเนื่องมาจากหน่วยงานจัดซื้อถือเป็นหน่วยงานที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการใช้เงินที่เป็นภาษีที่ได้จากประชาชนทั้งประเทศซึ่งรัฐบาลได้ทำการจัดเก็บมาเพื่อนำมาบริหารงานในทุกหน่วยงาน และภาคส่วน แม้ว่างานจัดซื้อจะเป็นเพียงหน่วยงานให้การสนับสนุน (Support Activities) ในองค์กรดังเช่นหน่วยงานอื่นๆ อันได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ การเงินการบัญชี  การพัฒนาเทคโนโลยี หรือระบบสารสนเทศ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมหลักขององค์กรธุรกิจอันได้แก่ หน่วยงานการนำเข้าสินค้า (Inbound logistics) หน่วยงานผลิต (Operation) หน่วยงานกระจายสินค้า (Outbound logistic)  การตลาดและการขาย (Marketing and Sales) และหน่วยงานบริการต่างๆ (Micheal E.Porter,1985)

 

     หน่วยงานจัดซื้อในภาครัฐและเอกชนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการตอบสนองภารกิจที่มีผลต่อการเติบโตขององค์กรภาคเอกชนเนื่องจากหน่วยงานจัดซื้อหรือนักจัดซื้อ (Purchaser or Buyer)ต้องจัดหาสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดี ราคาที่สมเหตุสมผลและแข่งขันได้ และมีความรวดเร็ว เพื่อต่อความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายและการแข่งขันที่สูงในโลกของธุรกิจ ในภาครัฐเองก็เช่นเดียวกันปัจจุบันการใช้แนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New public management) ซึ่งได้นำเอาวิธีการบริหารจัดการของภาคเอกชนมาใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานการให้บริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องนำมาใช้กันเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการของภาครัฐได้อย่างรวดเร็วและฉับไวมากขึ้นเช่นกัน

 

     หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมาตั่งแต่ในอดีตและปัจจุบันมีการกล่าวหาร้องเรียนว่า”มีการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่จัดซื้อของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่กระทำการรับสินจ้างจาก ผู้ผลิต (Suppliers) หรือผู้ให้บริการ (Service Provider) ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่หน่วยงานต่อ งบประมาณ ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง ขององค์กร ความน่าเชื่อถือ“ เช่นการฮั้วประมูลโครงการใหญ่ๆระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียตำบลคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีนักการเมืองตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อเข้าร่วมประมูล เป็นต้น การให้สินจ้างรางวัลและสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่จัดซื้อทั้งในรูปทรัพย์สิน เงินทอง และผลประโยชน์ส่วนตัวต่างๆในหลากหลายรูปแบบดังที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ อยู่เป็นประจำ ถึงแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะพยามยามที่จะสร้างระบบการตรวจสอบที่เคร่งครัดและมีการกำหนดนโยบายการจัดซื้อของตนอย่างชัดเจนเช่น การพยายามรวมศูนย์อำนาจการจัดซื้อไว้ที่ส่วนกลาง (Centralized Purchasing)  การซื้อแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Purchasing) และการจัดซื้อแบบผสมผสาน (Mixed Purchasing) อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการจัดซื้อ ขั้นตอนการไหลของข้อมูล (Flow chart) และคู่มือการจัดซื้อต่างๆ การกำหนดผู้มีอำนาจในการลงนาม (Delegation of Authority) เพื่อสร้างความรัดกุมในการตัดสินใจอนุมัติและใช้จ่ายเงินไปเพ่อไม่ให้เกิดความรั่วไหล หรือเกิดการทุจริตในวงการจัดซื้อไว้ก็ตาม

 

     สาเหตุการทุจริตอาจเกิดจากปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรต่างบรรทัดฐานนี้ จะนำมาซึ่งการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ปัจจัยส่วนบุคคลได้แก่ ความยากจน ภาวะหนี้สิน รายได้ที่ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ความฟุ่มเฟือยและ ปัจจัยทัศนคติ ความมีไร้จรรยาบรรณ ของตัวเจ้าหน้าที่จัดซื้อเอง การที่มีความคิดกลุ่มพาไป (Group think) ตั้งแต่ระดับหัวหน้า ผู้บังคับบัญชา ของหน่วยงานจัดซื้อที่มีอิทธิพลต่อการการทุจริต การตกบันไดพลอยโจร ต้องทุจริตกันอย่างเป็นระบบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้น ส่วนปัจจัยภายนอกที่เกิดจากการแข่งขันสูงทำให้ผู้ขาย และผู้ผลิตพยามยามที่จะมีส่วนแบ่งตลาด และขายสินค้าให้ได้ตามเป้าหมายของตนเองจึงพยายามหากลยุทธ์การขายที่บางส่วนมีการเสนอเงินสินจ้างรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่จัดซื้อ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่จัดซื้อไม่มีจิตใจที่เข้มแข็งพอก็จะกระทำผิดอย่างได้ในที่สุด เหตุผลที่ผู้เขียนหยิบยกประเด็นเรื่องอาชญากรรมคอปกขาวมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านอีกครั้งเนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยนั้นติดอันดับประเทศที่มีการคอรัปชั่นหรือทุจริตจากดัชนีชีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี  2558 (Corruption Perceptions Index 2015) ผลคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นโลกประจำปี 2558 ประเทศไทยติดอันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก คือได้คะแนนเพียง 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนนและเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน (ที่มา:Thaipublica)  จากสถิติลำดับดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเจ้าหน้าที่จัดซื้อ ผู้บริหาร หรือมนุษย์เงินเดือน ที่ทำงานในสำนักงานนี้เป็นจำนวนมาก

 

     แม้ว่าอาญากรรมคอปกขาว ซึ่งเป็นคำที่คิดขึ้นโดย เอ็ดวินซัตเธอร์แลนด์ นักอาชญาวิทยาชาวอเมริกันในช่วงศตวรรษที่ 21 นี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงวิชาการอาญาวิทยา เนื่องจากเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในหน้าที่ หรือตำแหน่งที่มีอำนาจ  โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงประโยชน์ในทางทุจริตให้แก่ตัวเองและกลุ่มตนเองทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ทั้งนี้ผู้เขียนเล็งเห็นผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างไม่เพียงแต่ผลกระทบต่อระดับประชาชน บุคคล องค์กร และประเทศชาติเท่านั้น หากแต่การกระทำผิดไม่ว่าจะมีความเสียหายน้อยถึงมาก หากเกิดในในวงราชการย่อมนำมาซึ่งความเสียหายต่อการบริหารรัฐกิจ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากเรามองข้ามการกระทำผิดของอาชญากรรมปกขาวนี้อาจนำมาซึ่งสาเหตุของการเชื่อมโยงถึงการเกิดอาชญากรรมระหว่างประเทศได้เช่น กระบวนการฟอกเงิน การค้ามนุษย์ และการก่อการร้าย เช่นการค้ายาเสพติด แล้วนำเงินมาซื้อทรัพย์สิน ที่ดิน บ้าน การจัดตั้งธุรกิจถูกกฎหมายบังหน้าในประเทศไทย โดยผ่านการแต่งตั้งตัวแทนอำพราง (Nominee)เป็นต้น เพราะหากมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการกระทำผิดดังกล่าวอันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างล้วนแล้วแต่สามารถนำมาเชื่อมโยงไปยังอาชญากรรมประเภทดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

 

     จะเห็นได้ว่าการทุจริตในงานจัดซื้อนั้นเป็นปัญหาที่แก้ไขกันไม่จบสิ้นถึงแม้ว่าแต่ละหน่วยงานหรือองค์กรพยายามที่จะสร้างระบบการตรวจสอบ การทวนกลับและมีการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ Department Of Special Investigation (DSI)  หน่วยงานพิเศษสังกัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545  มีหน้าที่ในการป้องกันปราบปราม ควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พัฒนาวิธีการ มาตรการ การป้องกัน ปราบปรามและควบคุมอาชญากรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาครัฐเองให้ความสำคัญต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วยังคงสร้างโอกาสของการก่ออาชญากรรมให้กับผู้ต้องการกระทำผิดอยู่เสมอ เนื่องจากการกระทำผิดในส่วนบุคคลแล้วยังมีการใช้อำนาจหน้าที่ อิทธิพลในการปกป้องอาชญากรด้วยกันเพื่อให้รอดพ้นจากความผิดด้วยเช่นกัน สาเหตุของการพฤติกรรมต่างบรรทัดฐานนี้เกิดขึ้นอาจเนื่องมาจากผู้กระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมคอปกขาวมักจะเป็นผู้ที่มีโอกาสทางสังคมการศึกษาดี มีไหวพริบ ความเฉลียวฉลาดในการสร้างและแสวงหาวิธีในการทุจริตการที่คนกลุ่มนี้มักมีเครือขายในสังคมี่กว้างขวาง เช่น รู้จักตำรวจ ผู้บริหารในกระบวนการยุติธรรม นักการเมืองผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายและจากทัศนคติ ความเชื่อที่คิดว่าว่าตนเองมีเครือขายที่ดีนี้ จึงไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษที่จะเกิดขึ้นและแน่ใจว่าตนเองจะสามารถหลุดรอดจากคดีความและการลงโทษได้ในที่สุด

 

     ในปัจจุบันบริษัทข้ามชาตินั้นมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบน (Anti Bribery Law หรือ UK Bribery Act 2010)  แบบสนธิสัญญาต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐแล้วก็ตาม หลายองค์กรภาคเอกชนเช่น กลุ่มบริษัทเครือซิเม็นต์ไทยหรือ เอสซีจี ได้ประกาศนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น ในปี 2555 โดยการประกาศเข้าร่วม” แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านทุจริต” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการต่อต้านทุจริตทุกรูปแบบ เป็นต้น  จากที่กล่าวมาข้างต้นมางานจัดซื้อถือเป็นหน่วยต้นทุน(Cost Center)หน่วยงานการใช้เงิน ที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนดังนั้น การให้ความสำคัญโดยแต่ละองค์กรนั้นมีความพยายามที่จะสรรหาบุคลากรที่มีความเป็นมืออาชีพ มีจรรณยาบรรณในวิชาชีพ มาร่วมดำเนินการบริหารงานจัดซื้อให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการกำหนด มาตรฐานทางจริยธรรม(Code of Conduct)ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์มาตรฐานของพฤติกรรมและความประพฤตินอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานควบคุมกำกับและดูแลการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance Department)เพื่อกำกับและดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาส่งผลถึงเกิดความเติบโตอย่างยั่งยืนในองค์กร หากเจ้าหน้าที่จัดซื้อที่มีความเป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณจะส่งผลถึงคุณภาพของสินค้าและบริการที่ออกมากจากกระบวนการจัดซื้อมีขั้นตอนชัดเจน ตรวจสอบได้ มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎระเบียบของบริษัท และสอดคล้องกฎหมายของภาครัฐก็จะช่วยให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคา และส่วนแบ่งการตลาดที่เป็นธรรมเป็นไปตามกลไกลของตลาด แต่หากว่ากระบวนการจัดซื้อมีการคอร์รัปชั่นในองค์กรเมื่อใด การกระทำผิดนั้นก็ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ หุ้นส่วนธุรกิจ และผู้ถือหุ้นขององค์กรนั้นๆได้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

     จะเห็นได้ว่าอาชญากรคอปกขาวที่เกิดขึ้นในงานด้านจัดซื้อนั้นมีผลกระทบต่อแวดวงธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคมและประเทศชาติอย่างมากซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ภาครัฐและเอกชนต้องให้สำคัญ และใส่ใจอย่างเข้มงวด ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงควรที่จะเน้นย้ำและให้ความสำคัญต่อกระบวนการจัดซื้อที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ถึงแม้ว่าหน่วยงานจัดซื้อจะเป็นเพียงหน่วยงานสนับสนุนเพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจหรือการบริหารงานภาครัฐดำเนินงานได้ตามปกติเพื่อตอบสนองภารกิจ เป้าหมาย ของหน่วยงานทั้งด้านผลกำไร ยอดขาย  ความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในธุรกิจ และการตอบสนองความต้องการของประชาชนการบริการที่ดี การมีประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐตามลำดับแต่ผลกระทบที่เกิดกับต่อเศรษฐกิจและสังคมระดับประเทศ และระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นการกระทำผิดที่สามารถส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอาชญากรรมประเภทอื่นๆได้

ในด้านการป้องกันอาชญากรรมคอปกขาว นักวิชาการด้านการบริหารงานยุติรรมและอาชญาวิทยาได้พยายามหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขทั้งเรื่องการกำหนดมาตรการและกฎหมายพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับอาชญากรรมประเภทนี้ อีกทั้งรัฐบาลพยายามการรณรงค์สร้างความซื่อสัตย์ผ่านทางสื่อกระแสหลักเช่นทางสื่อโทรทัศน์ในการปลูกฝังให้เด็กๆโตไปไม่โกง  ชี้ให้เห็นว่าการทุจริต คอร์รัปชัน เป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และจำเป็นต้องใช้กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) ให้กับเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต และทุกๆรัฐบาลมีความพยายามกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ไม่สนับสนุนภาคธุรกิจเอกชนเพื่อร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการทุจริตในงานจัดซื้อจัดจ้างทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตามในบริบทของประเทศไทยมักมีกลุ่มผลประโยชน์(Interest group) เข้ามาแทรกแซงในมิติของการเมืองอยู่เสมออันก่อให้เกิดการอาชญากรรมคอปกขาวในเชิงนโยบายขึ้นในหลายรัฐบาล

 

     แม้ว่ารัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยพยายามเพิ่มอำนาจการตรวจสอบการกระทำผิดในภาครัฐ และเอกชน แต่ปัญหาหาการทุจริตหรืออาชญากรรมคอปกขาวในงานจัดซื้อจัดจ้างยังคงอยู่และไม่สามารถขจัดปัญหานี้ให้หมดไปจากสังคมไทยได้ผู้เขียนมองว่าอาจมาจากหลายสาเหตุหลัก ประการแรกคือวัฒนธรรมแบบระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของคนไทย อันฝังรากลึกเป็นวิถีปฏิบัติของคนไทยตั่งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นในทุกระดับตั้งแต่ ระดับบุคคล องค์กร ชุมชนสังคม และประเทศชาติ จากรูปแบบค่านิยมน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า การถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อีกทั้งการที่ไทยรับเอากระแสระบบทุนนิยม มือใครขาวสาวได้สาวเอา ทำให้ทุกคนมีความมุ่งหวังที่จะประสบความเสร็จ แข่งขันกันแสวงหาเงินทองอยากรวย แสดงให้เห็นถึงการผูกติดระหว่างบุคคลกับวัตถุการสร้างมายาคติการให้และการรับของคนในสังคมและมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของการให้และการรับ ทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร ไม่สามารถแยกแยะถูกและผิด และความเหมาะสมในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมต่างบรรทัดฐานหรือการก่ออาชญากรรมปกขาวในที่สุด ประการที่สอง ความไม่สมดุลของรายรับและรายจ่าย ของเจ้าหน้าที่จัดซื้อ รายได้ไม่พอกับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน การมีหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น อันเกิดจากเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายก่อนผ่านบัตรเครดิต ความฟุ้งเฟ้ออันเกิดจากการยึดติดในวัตถุนิยมเพื่ออยากมีเท่าเทียมกับคนอื่น  ทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินเกินกำลังความสามารถของตนเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยผลักดันให้ เจ้าหน้าที่จัดซื้อ ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐต้องก่ออาชญากรรมประเภทนี้ได้ง่าย ประการที่สาม การเข้ามาแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ นักการเมือง ที่เข้ามาผลักดันให้เกิดการคอร์รัปชันระดับนโยบาย ในภาคธุรกิจและภาครัฐ ทั้งนี้ผู้เขียนเล็งเห็นความจึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ทุกภาคส่วนควรเคารพกฎกติกา การสร้างมาตรฐานการทางจริยธรรมและข้อกำหนดที่เป็นสากลเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งการใช้หลักการประชาชน ชุมชน และสังคมในการแก้ไข ป้องกัน ปัญหาอาชญากรรมคอปกขาวนี้ร่วมกันก็จะช่วยให้ปัญหานี้ทุเลาเบาบางลงได้ทั้งในภาครัฐและเอกชน นำมาซึ่งการสร้างความมั่นคง มั่งคั่งให้กับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนในที่สุด

 

   เอกสารอ้างอิง

กมลทิพย์ จันทรมัส ,2558 “ กลยุทธ์การัดซื้อสมัยใหม่อย่างมืออาชีพ” เอกสารประกอบการสัมมนา จัดโดยหน่วยงานจับคู่ธุรกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

สุดสงวน สุธีสร,2558.อาชญาวิทยา:คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ

พรชัย ขันตีและคณะ ,2558.ทฤษฎีอาชญาวิทยา: หลักการ งานวิจัยและนโยบายประยุกต์. สาขาวิชาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ส.เจริญการพิมพ์ กรุงเทพฯ

Thaipublica“ดัชนีชีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี  2558 (Corruption Perceptions Index 2015)”

 

Nathee Chitsawang

Copyright 2016 | All Rights Reserved.