บทความ
สถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศไทย
นัทธี จิตสว่าง
การกระทำผิดซ้ำ (Recidivism) นับเป็นเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป ในการนำมาประเมินความสำเร็จในงานการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในเรือนจำ สถานควบคุมตัว หรือผ่านมาตรการปฏิบัติในชุมชนไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนหรือผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการประเมินว่าผู้ผ่านการปฏิบัติในมาตรการดังกล่าวสามารถกลับสู่สังคมปรับตัวเข้ากับกฎเกณฑ์ และเงื่อนไขของสังคมได้โดยไม่กลับกระทำผิดขึ้นอีก แม้ว่าการนำเกณฑ์เกี่ยวกับการไม่ไปกระทำผิดขึ้นอีกจะมีข้อจำกัดเพราะอาจมีตัวแปรอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามาแทรกซ้อนและมีผลทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ แต่หากมาตรการในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดดังกล่าวได้เสริมสร้างภูมิต้านทานที่เข้มแข็งให้กับผู้กระทำผิดในการที่จะทนต่อสิ่งเสียดทานของสิ่งแวดล้อมก็จะไม่กลับไปกระทำผิดขึ้นอีก
แม้การกระทำผิดซ้ำจะได้รับการยอมรับกันทั่วไปในการใช้เกณฑ์ในการประเมินความสำเร็จในมาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด แต่ยังมีความไม่ลงรอยเกี่ยวกับเกณฑ์ในการประเมินการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันในระบบยุติธรรมของประเทศต่างๆ หรือแม้แต่ในโครงการประเมินหรือวิจัยภายในประเทศเดียวกัน ดังนั้นในการเปรียบเทียบอัตราการกระทำผิดซ้ำของประเทศต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงเกณฑ์ในการจัดเก็บสถิติและตัวเลขเกี่ยวกับการกระทำผิดซ้ำตลอดจนวิธีการประเมินของแต่ละที่ด้วย
สำหรับในประเทศไทย อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำ ตามที่ปรากฏในรายงานสถิติของกรมราชทัณฑ์ ในปี พ.ศ.2559 มีอยู่ 62,117 ราย จากนักโทษเด็ดขาดทั้งหมด 261,687 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.74 ซึ่งหมายความว่าในจำนวนนักโทษเด็ดขาดทั้งหมดที่ถูกคุมขังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ในปี พ.ศ.2559 จะมีนักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้กระทำผิดซ้ำอยู่ร้อยละ 23 โดยแยกเป็นนักโทษเด็ดขาดที่กระทำผิดซ้ำ ครั้งที่ 2 จำนวน 48,139 ราย ครั้งที่ 3 จำนวน 9,640 ราย ครั้งที่ 4 จำนวน 2,640 ราย ครั้งที่ 5 ขึ้นไป จำนวน 1,968 ราย รายละเอียดปรากฏตามตารางสถิตินักโทษเด็ดขาด แยกจำนวนครั้งที่ต้องโทษ ในตารางที่1 (1)
ตารางที่ 1
สถิตินักโทษเด็ดขาด แยกตามจำนวนครั้งที่ต้องโทษ
สำรวจ ณ วันที่ 1 เมษายน 2559
เมื่อนำอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังของไทยไปเปรียบเทียบกับอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก จะพบว่าอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังไทยต่ำกว่าอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังของประเทศต่างๆ มาก เช่นฝรั่งเศส ร้อยละ 59 แคนดา ร้อยละ 41 เยอรมัน ร้อยละ 48 และเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 48 เป็นต้น (2)
แต่การเปรียบเทียบอัตราการกระทำผิดซ้ำระหว่างประเทศต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเพราะการจัดเก็บสถิติเกี่ยวกับการกระทำผิดซ้ำของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน หรือแม้แต่ในประเทศเดียวกันก็ยังมีการจัดเก็บสถิติการกระทำผิดซ้ำที่แตกต่างกัน
โดยขึ้นอยู่กับวิธีประเมินอัตราการกระทำผิดซ้ำแหล่งข้อมูลที่รายงานสถิติกระทำผิดซ้ำ ระยะเวลาในการติดตามพฤติกรรม ประชากรของกลุ่มที่จะศึกษาและความแม่นยำของสถิติที่จัดเก็บเป็นสำคัญ
ในส่วนประเทศไทย อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังไทยคำนวณจากจำนวนนักโทษเด็ดขาดทั้งหมดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในขณะใดขณะหนึ่งว่ามีนักโทษเด็ดขาดคนใดเคยกระทำผิดซ้ำมาก่อน เป็นครั้งที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 หรือมากกว่าจำนวนเท่าใดคิดเป็นร้อยละเท่าไร จากนักโทษเด็ดขาดทั้งหมด อีกนัยหนึ่งการคำนวณจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำโดยวิธีนี้ เป็นการคำนวณจากฐานของนักโทษเด็ดขาดทั้งหมดที่ถูกจองจำอยู่ ณ ปัจจุบัน มีใช่คำนวณจากจำนวนนักโทษเด็ดขาดพี่พ้นโทษและถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำในรอบระยะเวลาหนึ่งๆ เช่น 1 ปี 3 ปี ดังนั้นไม่ว่านักโทษเด็ดขาด จะพ้นโทษออกไปนานเท่าใด หากกลับเข้ามาต้องโทษจำคุกอีก ในคดีใดก็ตามถ้าเป็นการต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ถือเป็นผู้กระทำผิดซ้ำทุกกรณี
ในการพิจารณานักโทษเด็ดขาดคนใด เป็นผู้กระทำผิดซ้ำหรือไม่ จึงต้องอาศัยทะเบียนประวัติของเรือนจำและหมายจำคุก ซึ่งระบุการฟ้องเพิ่มโทษตามมาตรา 92 และ 93 แห่งประมวลกฎหมายอาญารวมตลอดถึงข้อมูลจากตัวผู้ต้องขังเอง
การคำนวณอัตราการกระทำผิดซ้ำของไทยจึงแตกต่างไปจากการคำนวณอัตราการกระทำผิดซ้ำของต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการคำนวณการกระทำผิดซ้ำจากจำนวนนักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษออกจากเรือนจำหรือสถานควบคุมอื่นๆ ในปีหนึ่ง ปีใด แล้วติดตามดูว่าใน 1ปี หรือ 3ปี หรือรอบระยะเวลาอื่นๆ ต่อมาได้กระทำผิดซ้ำโดยถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในความผิดซึ่งได้กระทำขึ้นใหม่หรือถูกศาลพิพากษาจำคุกหรือถูกส่งเข้าเรือนจำใหม่แล้วแต่กรณี การคำนวณวิธีนี้เป็นการคำนวณผู้กระทำผิดซ้ำที่ใช้กันแพร่หลายในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีระบบการติดตาม และระบุตัวบุคคลที่มีประสิทธิภาพ เช่น กรณีสำนักงานสถิติงานยุติธรรมของสหรัฐ ไว้ทำการศึกษาพบว่า ในจำนวนนักโทษที่พ้นออกจากเรือนจำ ในปี พ.ศ.2005 จำนวน 404,638 ราย ใน 30 มลรัฐ ในรอบ 3 ปี ได้กลับมากระทำผิดอีกและถูจับกุมอีกครั้ง ถึงร้อยละ 67.8 และในรอบ 5ปี ร้อยละ 76.6 โดยเป็นการถูกจับเฉพาะในปีแรกร้อยละ 56.7 นอกจากนี้หากเป็นประเภทคดีจะเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ร้อยละ 82.1 และคดีเกี่ยวกับยาเสพติดกระทำผิดซ้ำร้อยละ 76.9 (3)
นอกจากนี้ การจัดเก็บสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังไทยยังไม่มีเงื่อนไขด้านระยะเวลา (แม้ว่าตามมาตร92 และ มาตร93 แห่งประมวลกฎหมายอาญาจะกำหนดระยะเวลาไว้ก็ตาม) เนื่องจากมีการจัดเก็บสถิติจากแหล่งอื่นอีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเคยต้องโทษจำคุกมานานเท่าใด เมื่อไรหากเคยต้องโทษจำคุกมาแล้วและติดคุกจริงๆ ก็นับเป็นผู้กระทำผิดซ้ำทุกกรณีนอกจากนี้การไม่นับระยะเวลาดังกล่าวทำให้ไม่มีประเด็นว่าจะนับเวลา 1 ปีหลังพ้นโทษออกไปเมื่อใด เช่นจะเริ่มนับระยะเวลาจากการปล่อยพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษ หรือหลังครบเงื่อนไขการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษแล้ว นอกจากนี้ยังไม่มีประเด็นว่าผู้ต้องขังที่เคยถูกคุมขังในสถานพินิจนั้นจะนับรวมด้วยหรือไม่ เพราะนับเฉพาะผู้เคยต้องโทษจำคุกเท่านั้น
อย่างไรก็ตามการวัดเก็บสถิติการกระทำผิดของผู้ต้องขังไทย โดยจัดเก็บจากจำนวนนักโทษเด็ดขาดทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถอธิบายได้ว่าในแต่ละรุ่นหรือแต่ละปีที่ปล่อยออกไปมีการกระทำผิดซ้ำเท่าใด และรวมถึงไม่สามารถอธิบายได้ในแต่ละเมืองแต่ละพื้นที่หรือแต่ละโครงการหรือกิจกรรมว่ามีการกระทำผิดซ้ำเท่าใด เช่นนักโทษเด็ดขาดที่ผ่านการอบรมในโปรแกรมผู้กระทำผิดทางเพศ เมื่อพ้นโทษออกไปแล้วได้กระทำผิดอีกหรือไม่และภายในระยะเวลาเท่าใดซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ จะสามารถสะท้อนถึงประสิทธิและประสิทธิผลของความสำเร็จของโปรแกรมได้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีวิธีการติดตามเพื่อดูการกระทำผิดซ้ำของผู้ปล่อยตัวพ้นโทษเช่นกัน เช่นในกรณีการปล่อยตัวอภัยโทษในวาระโอกาสบางโอกาสว่ากลับมากระทำผิดซ้ำเท่าใดซึ่งเป็นการจัดเก็บสถิติการกระทำผิดซ้ำในกลุ่มเล็กๆ บางโอกาสเท่านั้น
ข้อพิจารณาอีกข้อคือการตรวจสอบข้อมูลการกระทำผิดซ้ำของไทย ใช้วิธีตรวจสอบจากนักโทษเด็ดขาดทั้งหมดที่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนหรือไม่ เป็นการเก็บข้อมูลย้อนหลัง คือการตรวจสอบจากนักโทษเด็ดขาดทั้งหมด ว่าคนใดเคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน ซึ่งวิธีการตรวจสอบจะดูจากทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง ว่ามีการฟ้องเพิ่มโทษในการกระทำความผิดซ้ำ ตามมาตรา 92 หรือ 93 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่แต่การวัดสถิติการกระทำผิดซ้ำของต่างประเทศ เป็นการติดตามไปในอนาคตอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บสถิติผู้กระทำผิดซ้ำในแบบใดต่างก็มีจุดอ่อนและจุดแข็งด้วยกันทั้งสิ้นในส่วนวิธีการจัดเก็บสถิติการกระทำผิดซ้ำของไทยมีจุดแข็ง คือ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องดำเนินการติดตามผู้พ้นโทษซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานนับปี และต้องมีการจัดเก็บ ดำเนินการในลักษณะงานวิจัย โดยใช้ทีมงานในการศึกษาและติดตามหลายราย ดังนั้นในการดำเนินการจัดเก็บสถิติผู้กระทำผิดซ้ำในต่างประเทศจึงไม่ได้เป็นการเก็บจากผู้ต้องขังที่พ้นโทษทุกคน แต่จะใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง เช่น สุ่มจากผู้พ้นโทษในบางรัฐ หรือบางเมือง หรือสุ่มจากผู้พ้นโทษที่ผ่านโปรแกรมอบรม หรือสำรวจจากผู้ต้องขังที่พ้นโทษทั้งหมด แต่เป็นการสุ่มศึกษา ปีเว้นปี หรือ 3 ปีเป็นต้นไป ในขณะที่การจัดเก็บสถิติของราชทัณฑ์ไทย เป็นการจัดเก็บจากสถิติที่เรือนจำต่างๆ ทุกเรือนจะจัดส่งเข้าส่วนกลางเพื่อรวบรวมนำเสนอภาพรวมและเป็นการจัดเก็บอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้นการจัดสถิติการกระทำผิดซ้ำของไทยจึงทำให้ได้ภาพใหญ่ของประเทศทุกปีไม่ใช่เป็นการจัดเก็บเป็นบางส่วน บางโปรแกรม หรือบางรัฐ บางเมือง อีกนับหนึ่งสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังไทย เป็นการตอบคำถามที่ว่า “ในจำนวนนักโทษเด็ดขาดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในปัจจุบัน มีผู้กระทำผิดซ้ำอยู่เท่าใด” ในขณะที่การจัดเก็บการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังต่างประเทศจะตอบคำถามว่า “ในจำวนนักโทษเด็ดขาดที่ปล่อยตัวไปจากเรือนจำรอบ 1 ปี หรือ 3 ปี หรือ อื่นๆ กลับไปกระทำผิดซ้ำอีกเท่าใด” ซึ่งก็ถือว่าเป็นจุดอ่อนของการจัดเก็บสถิติการกระทำผิดซ้ำของไทยที่ไม่สามารถตอบได้ว่า นักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษออกมาในแต่ละรุ่น แต่ละปี แต่ละโครงการกลับไปกระทำผิดซึ่งเท่าไรและภายในระยะเวลาเท่าใด
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บสถิติของผู้กระทำผิดซ้ำในแบบใด ประเด็นสำคัญในการพิจารณาสถิติการกระทำผิดซ้ำดังกล่าวอยู่ที่ความแม่นยำและความน่าเชื่อถือของสถิติที่จัดเก็บและนักโทษเด็ดขาดที่จะจัดเก็บอยู่ในกลุ่มหรือนักโทษประเภทใด ถ้านักโทษเด็ดขาดในเรือนจำส่วนใหญ่ในประเทศเป็นผู้ที่กระทำผิดโดยพลั้งพลาด ทำผิดคดีเล็กน้อย หรือทำผิดโดยความจำเป็น เช่น ในกรณีของเรือนจำในประเทศไทยที่ผู้กระทำผิดไม่ได้เป็นอาชญากรอาชีพหรือมีพฤติกรรมเป็นอาชญากรสถิติการกระทำผิดซ้ำก็จะต่ำแต่ถ้าในประเทศที่มีมาตรการทางเลือกแทนการคุมขังในเรือนจำที่ดี ระบบการกลั่นกรองที่มีประสิทธิภาพคนที่เป็นอันตรายต่อสังคมจริง ถึงจะส่งเข้าเรือนจำเพราะคนเหล่านี้มักจะเป็นผู้กระทำผิดซ้ำ ดังนั้นอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศเหล่านี้จึงสูงเพราะคนที่ถูกจองจำในเรือนจำส่วนใหญ่เป็นคนที่มีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำและแก้ไขได้ยากอยู่แล้ว ดังนั้นในการเปรียบเทียบอัตราการกระทำผิดซ้ำของนักโทษเด็ดขาดกับประเทศต่างๆ จึงต้องคำนึงถึงจุดนี้เป็นสำคัญ
อ้างอิง
1. สถิติผู้ต้องขังราชทัณฑ์ สืบค้นจาก http : // www.correct.go.th /starthomepage
2. Seema Fazel and AchimWolf ,A Systematic Review of Criminal Recidivism Rates Worldwide : สืบค้นจาก https:// www.nebi.nlm.nihgov/pme /articles/ pmc 4472929
3. Durose, Matthew R., Alexia D.Cooper, and Howard N. Snyder, Recidivism of Prisoners Released in 30 states in 2005 : patterns from 2005 to 2010 (pdf,31 pages). Bureau of Justice statistics Special Report, April 2014, NCJ 24405
Nathee Chitsawang
Copyright 2016 | All Rights Reserved.