บทความ
การปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดเพศที่สามในเรือนจำ
เรืออากาศเอกหญิงใจเอื้อ ชีรานนท์ [1]
ปัจจุบัน “บุคคลข้ามเพศ” (Transgender) หรือที่คนในสังคมทั่วไปเรียกกันว่า“เพศที่สาม” ได้กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจและปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆมากมายอย่างต่อเนื่องหลายประเทศทั้งประเทศกลุ่มตะวันตก และในอาเซียนเองได้ให้ความสนใจต่อกลุ่มคนเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น อาจเรียกได้ว่าในปี พ.ศ.2559 นี้ เป็นปีของเพศที่สามก็ว่าได้ เห็นได้จาก การพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดการเลือกปฏิบัติเพื่อให้สิทธิกับบุคคลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ที่ประเทศอังกฤษ มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวและให้การสนับสนุนเพศที่สาม คือ กรณีของนาย Tara Hudson ชาวอังกฤษวัย 26 ปี ศาลอังกฤษตัดสินให้เขาจำคุกอยู่ในเรือนจำชาย เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ด้วยข้อหาทำร้ายร่างกายพนักงานเสิร์ฟเครื่องดื่มในบาร์แห่งหนึ่ง โดยที่ Hudson เป็นบุคคลที่ได้รับการแปลงเพศอย่างสมบูรณ์ มีรูปร่างหน้าตาเหมือนผู้หญิง และได้ใช้ชีวิตในแบบฉบับของผู้หญิงมาโดยตลอด ทั้งนี้เมื่อคำตัดสินได้เผยแพร่ออกไป ประชาชนกว่า 140,000 คน ได้ลงชื่อรณรงค์ให้มีการย้ายเขาออกจากเรือนจำชาย เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกทำร้ายร่างกายหรือล่วงเกินทางเพศได้ อย่างไรก็ตามกรมราชทัณฑ์ของอังกฤษกล่าวว่า การพิจารณาจำแนกผู้ต้องขัง จะขึ้นอยู่กับสถานภาพทางเพศตามกฎหมายของบุคคลนั้น ประเด็นดังกล่าวได้รับความกดดันจากสื่อ นักการเมือง และกลุ่มเคลื่อนไหวเป็นอย่างมาก และมีคำถามที่เกิดขึ้นคือระบบการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดข้ามเพศหรือเพศที่สามนั้น ยังมีความล้มเหลวหรือไม่ ในที่สุดรัฐบาลของอังกฤษมีความเห็นพ้องที่จะทบทวน และแก้ไขแนวทางการปฏิบัติของกระทรวงยุติธรรมให้ครอบคลุมถึงรูปแบบและความแตกต่างของผู้กระทำผิดในอนาคต รวมถึงการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดที่เป็นเพศที่สามในสังคม ท่ามกลางกระแสกดดัน ต่อมานาย Hudson ได้ถูกย้ายออกจากเรือนจำชายไปยัง woman’s facility อย่างไรก็ตามยังมีผู้ต้องขังข้ามเพศอีกจำนวนมากที่ไม่ได้โชคดีเหมือนนาย Hudson มีผู้กระทำผิดที่เป็นเพศที่สามจำนวนไม่น้อยที่ฆ่าตัวตายระหว่างถูกจองจำอยู่ในเรือนจำชาย ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ได้จุดประกายให้กระทรวงยุติธรรมของประเทศอังกฤษตระหนักถึงความสำคัญของการปฎิบัติต่อผู้กระทำผิดที่เป็นเพศที่สาม โดยได้เริ่มจากการตรวจสอบจำนวนผู้ต้องขังข้ามเพศหรือเพศที่สามที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำชายทั่วประเทศอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศสวีเดน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ได้ออกกฎหมายรับรองสถานะของผู้แปลงเพศ โดยมีหลักการและเงื่อนไขที่สำคัญที่คล้ายคลึงกันสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานะทางเพศ คือ ต้องเป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ ยังไม่ได้แต่งงานหรือหย่าร้างแล้ว ไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ และได้ใช้ชีวิตในอีกเพศหนึ่งมาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี โดยสถานะทางกฎหมายภายหลังจากที่ได้รับการอนุญาตให้เปลี่ยนเพศแล้ว บุคคลดังกล่าวจะมีเพศใหม่ตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆได้ สามารถสมรสและได้รับการปฏิบัติจากรัฐในฐานะผู้ที่มีเพศใหม่ รวมไปถึงการดำเนินการยุติธรรมทางอาญาไม่ว่าจะเป็นกรณีการจับ ค้น คุมขัง
ย้อนมาดูเพศสภาวะและพฤติกรรมรักร่วมเพศในประเทศไทยในปัจุบัน พบว่าเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมในอดีต เพศในสังคมไทยเริ่มมีความสัมพันธ์กับการแต่งกายและทรงผม อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกัน จารีตประเพณีของประเทศตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและแนวคิด เริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงแนวคิดเรื่องอาชญากรรมและการรับรู้ทางเพศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้รับการตระหนักว่าไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของจารีตประเพณีในสังคมพฤติกรรมรักร่วมเพศและสภาวะข้ามเพศในประเทศไทย มีความสลับซับซ้อนอีกทั้งสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้รับการยอมรับในทิศทางเดียวกัน บุคคลข้ามเพศหรือเพศที่สามในประเทศไทยมีปริมาณที่มากและมีการแสดงออกที่ชัดเจนมากกว่าหลายๆประเทศ เราสามารถพบเห็นบุคคลข้ามเพศหรือเพศที่สาม ในแทบทุกพื้นที่ของสังคม แต่การยอมรับและอคติที่มีต่อคนกลุ่มนี้ ก็ปรากฎเห็นได้ชัดเจน การแบ่งแยก การเลือกปฏิบัติ ยังคงพบได้อย่างแพร่หลายในสังคมเช่นเดียวกัน การปรากฎตัวของกลุ่มบุคคลข้ามเพศหรือเพศที่สามมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จะพบว่าการดำรงอยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้จะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ แต่ในพื้นที่ที่เป็นทางการ ซึ่งหมายถึงกิจกรรมที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐและการให้ความชอบธรรมด้วยระบบกฎหมายเราจะพบว่าพื้นที่นั้นยังไม่ได้เปิดรับการดำรงอยู่ของกลุ่มบุคคลข้ามเพศหรือเพศที่สามแต่อย่างใด
การปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในประเทศไทย ได้ยึดถือพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 เป็นกรอบการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ตั้งแต่ขั้นตอนการรับตัวผู้ต้องขัง การจำแนกประเภทลักษณะของผู้ต้องขัง การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังภายในเรือนจำ ตลอดจนขั้นตอนการปล่อยตัวผู้ต้องขังเข้าสู่สังคมจำนวนผู้กระทำผิดเพศที่สามในประเทศไทย จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ที่ได้สำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อ มิถุนายน 2559 พบว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังข้ามเพศหรือเพศที่สามจำนวน 4,448 คน แบ่งออกเป็น กะเทย 1,804 คนเกย์352 คน ทอม1,247 คน ดี้1,011 คน และผู้ที่แปลงเพศจากชายเป็นหญิงแล้ว 34 คน โดยผู้กระทำผิดที่เป็นเพศที่สามเหล่านี้ สามารถพบได้ทั่วไปในทุกเรือนจำ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกปัจจุบัน จากการสำรวจยังพบว่า เรือนจำพิเศษพัทยามีจำนวนผู้ต้องขังข้ามเพศที่เป็นกะเทยและเกย์มากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นเรือนจำกลางเชียงใหม่ และทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ตามลำดับ (ในที่นี้ผู้เขียนขอมุ่งประเด็นไปที่ผู้กระทำเพศที่สามที่เป็นกะเทยและเกย์เท่านั้น)แต่อย่างไรก็ตาม ผู้กระทำความผิดที่เป็นเพศที่สามในประเทศไทย ยังได้รับการปฏิบัติเฉกเช่น เพศชาย เนื่องจากยังไม่มีบทบัญญัติหรือกฎหมายรองรับ อีกทั้งการแยกประเภทของผู้ต้องขังยังคงยึดติดกับเพศกำเนิด
รูปแบบในการควบคุมผู้ต้องขังข้ามเพศของกรมราชทัณฑ์ไทยในปัจจุบัน มีการแยกห้องในช่วงเวลากลางคืน โดยจะแยกผู้ต้องขังตามกลุ่มประเภท และแยกแดน ในกรณีที่ผู้ต้องขังแปลงเพศแล้ว แต่บางเรือนจำยังคงใช้วิธีการขังรวม เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องสถานที่ และในบางกรณี แม้ว่าผู้กระทำผิดจะได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ หรือใช้ชีวิตเป็นเพศหญิงมาตลอด ก็ไม่ได้รับการพิจารณาให้อยู่ในเรือนจำหรือสถานที่ที่จัดให้สำหรับผู้ต้องขังหญิง เป็นการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของแต่ละเรือนจำ อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ต้องขังและความพร้อมของสถานที่ เนื่องจากแท้จริงแล้วระบบกฎหมายไทยยังจัดว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเพศชาย และยึดถือระเบียบปฏิบัติเดียวกับผู้กระทำผิดที่เป็นเพศชาย จึงยังไม่มีการกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การนำบุคคลข้ามเพศหรือเพศที่สามไปคุมขังไว้รวมกลับกลุ่มผู้ต้องขังชาย ก็นำมาสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย สังคมภายนอกไม่ค่อยได้รับรู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำอย่างไร ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม และได้พบเจอกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตเช่นใดบ้าง ทั้งยังเป็นตัวตลกของผู้ต้องขังคนอื่นในเรือนจำส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ต้องขังที่กระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติด โดยเป็นผู้เสพมากกว่าผู้ขาย และคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ มีผู้คนในสังคมจำนวนมาก ที่คิดว่าบุคคลข้ามเพศเหล่านี้ต้องการอยู่รวมกับผู้ชาย และมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตรายล้อมไปด้วยผู้ชาย ซึ่งข้อความดังกล่าวนี้ ถือเป็นการลดทอน และดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นอย่างมาก ใครจะทราบว่าแท้จริงแล้วเขาเหล่านั้นต้องเผชิญกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกลั่นแกล้ง ถูกกระทำความรุนแรงทั้งต่อทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งบางเรือนจำยังมีการจำกัดบริเวณและสถานที่ของบุคคลข้ามเพศหรือเพศที่สามเหล่านี้ ถูกขังเดี่ยวในห้องพิเศษ เมื่อก้าวเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว คำว่าอิสรภาพสำหรับผู้ต้องขังก็หมดไป แต่กลุ่มคนเหล่านี้ยังถูกจำกัดอิสรภาพอีกขั้นหนึ่งซึ่งถือเป็นเรื่องที่โหดร้าย และแสดงถึงความไม่เสมอภาค อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติและการควบคุมดูแลผู้ต้องขังของพนักงานราชทัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากการทะเลาะวิวาท จากสาเหตุการหึงหวงแย่งคู่ ปัญหาการแสดงพฤติกรรมรุนแรงและการควบคุมอารมณ์ ส่งผลให้เกิดการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ รวมทั้งปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งจากการล่วงละเมิดทางเพศโดยสมยอมและไม่สมยอม
ในขณะที่ในต่างประเทศ เช่นทื่ กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2557 ได้เปิดสถานที่คุมขังสำหรับผู้หญิงข้ามเพศ อย่างเป็นทางการ (Housing Unit for Transgender Woman) โดยมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องและคุ้มครองผู้กระทำผิดข้ามเพศจากความรุนแรง การถูกข่มขืน และการล่วงละเมิดทางเพศ โดยกรมราชทัณฑ์ของนิวยอร์คได้เปิดเผยว่า รัฐได้สร้างสถานที่คุมขังที่สามารถรองรับผู้กระทำผิดมากกว่า 30 ห้อง ซึ่งผู้กระทำผิดสามารถเลือกที่จะถูกคุมขังที่สถานที่แห่งนี้ได้ด้วยความสมัครใจ พร้อมทั้งกล่าวว่า ผู้กระทำผิดในแต่ละรายมีความแตกต่างกัน กรมราชทัณฑ์จึงได้จัดสถานที่เฉพาะสำหรับผู้ต้องขังที่มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ซึ่งการเปิดสถานที่คุมขังและการให้บริการที่เหมาะสมสำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นบุคคลข้ามเพศนี้ ถือเป็นนโยบายที่ดีและมีความหมายต่อการปฏิรูประบบราชทัณฑ์ อีกทั้งยังหวังให้เกิดผลในระยะยาว รวมถึงความเป็นไปได้ในการลดจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำอีกด้วย และล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2558 รัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ได้ออกนโนบายใหม่ซึ่งถือเป็นความพยายามผลักดันให้มีการเคารพสิทธิของผู้กระทำผิดที่เป็นบุคคลข้ามเพศมากขึ้น โดยการยกเลิกการแยกขังเดี่ยวแก่ผู้กระทำที่เป็นเพศที่สาม ซึ่งรัฐเพนซิลวาเนียก็มีการปฏิบัติก่อนหน้านี้คล้ายกับหลายรัฐอื่นในสหรัฐอเมริกา ที่มีการแยกการคุมขังผู้กระทำความผิดตามเพศกำเนิด ซึ่งโดยหลักการแล้วการแยกขังเดี่ยวถือเป็นวิธีที่ใช้ลงโทษผู้ต้องขังที่ก่อความรุนแรงหรือกระทำความผิดในขณะคุมขังแต่ได้นำมาใช้เป็นทางเลือกในการป้องกันผู้กระทำผิดที่เป็นเพศที่สามจากการถูกทำร้ายทางเพศ และจากสถิติหนึ่งของรัฐแคลิฟอร์เนียพบว่า ผู้หญิงข้ามเพศได้ถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า 13 ครั้งขณะคุมขังอยู่ในเรือนจำชาย อย่างไรก็ตามการขังเดี่ยวนี้ ถึงแม้ว่าจะสามารถลดปริมาณและความเสี่ยงต่อกรณีการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ต้องขังในระยะยาวเช่นกัน ผู้ปกครองของผู้กระทำความผิดเพศที่สามได้ออกมาเปิดเผยว่า ลูกสาวของพวกเขาได้ถูกข่มขืนและทำร้ายจากระบบราชทัณฑ์ของรัฐ พวกเข้าได้ถูกบังคับให้เดินแก้ผ้า อีกทั้งยังถูกทำร้ายทั้งจากเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังด้วยกันเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐเพนซิลวาเนียในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะข้ามไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เป็นการเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่ดำรงอยู่ การพิจารณาถึงสถานที่ ความปลอดภัยและการให้การดูแลที่เหมาะสม ตลอดจนถึงสุขภาพของผู้ถูกคุมขัง นอกจากนี้ในนโยบายฉบับนี้ ยังอนุญาตให้ผู้กระทำผิดสามารถอาบน้ำได้อย่างเป็นส่วนตัว ตลอดจนสามารถซื้อเครื่องสำอาง ปิ่นปักผม ชุดชั้นในที่เหมาะสมต่อเพศของตนอีกด้วย
ด้วยกระแสความตื่นตัว การยอมรับ และการเปิดกว้างแก่บุคคลเพศที่สามในสังคมโลก และคำถามที่เกิดขึ้นในใจว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ประเทศไทยควรจะตระหนักถึงความสำคัญของผู้กระทำผิดที่เป็นเพศที่สาม ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า การศึกษาทบทวนการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดเพศที่สามทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยมีความจำเป็นยิ่ง เพื่อที่จะศึกษาถึงนโยบายและแนวทางการปฏิบัติ โดยมีความเห็นว่าประเทศไทยน่าจะมีความเตรียมพร้อมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของเพศที่สาม โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดเพศที่สามในเรือนจำ ควรมีการศึกษาถึงการดำเนินการของประเทศต่างๆ วิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสีย และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย อีกทั้งในเวทีสหประชาชาติใปัจจุบัน ประเทศไทยก็มีบทบาทในเรื่องของการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดที่เป็นผู้หญิง ภายหลังการออกข้อกำหนดกรุงเทพ(Bangkok Rule) จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะนำหลักการและแนวทางเหล่านั้นมาปรับใช้กับผู้กระทำผิดเพศที่สามด้วยอีกแนวทางหนึ่ง แต่อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก ซึ่งถือเป็นวิกฤติของราชทัณฑ์ไทยในปัจจุบัน อีกทั้งในเรื่องของเจ้าหน้าที่ ก็มีความจำเป็นที่ต้องอบรมให้ความรู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการปฏิบัติต่อกลุ่มคนเหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และซับซ้อน เจ้าหน้าที่ต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติและความต้องการของกลุ่มคนเพศที่สามเป็นอย่างดี ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2558 ได้มีการออกพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ และมีผลบังคับใช้เมื่อ 9 กันยายน 2529 โดยมีจุดประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและคุ้มครองการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ได้นิยาม “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” โดยให้หมายความตามมาตรา 3 ว่า“การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจาก ความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” อีกทั้งสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือการบัญญัติว่า“ การกำหนด นโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศจะกระทํามิได้” ซึ่งเป็นการแสดงถึงการรับสิทธิของบุคคลข้ามเพศหรือเพศที่สาม อีกทั้งยังถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ประเทศไทยได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของเพศที่สามอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตามการศึกษาถึงนโยบายและแนวทางการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดที่เป็นเพศที่สามในประเทศต่างๆ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย ระเบียบข้อบังคับ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติต่างๆ เพื่อที่จะสามารถปกป้องและรักษาสิทธิของผู้ถูกคุมขังเพศที่สามได้ ซึ่งจะเป็นก้าวย่างสำคัญของประเทศไทย ในการพัฒนาการดำเนินงานในเรือนจำให้มีความสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนและมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี นอกจากนี้ ยังเป็นการดำรงไว้ซึ่งคุณค่าแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกทั้งยังส่งผลต่อการคืนคนดีสู่สังคม เนื่องจากผู้กระทำผิดได้รับการปฏิบัติและการเยียวยาที่เหมาะสม ท้ายที่สุดเป็นการให้โอกาสบุคคลข้ามเพศหรือเพศที่สามได้ดำเนินชีวิตตามแบบที่พวกเขาเป็นในสังคม
รายการอ้างอิง
สมชาย ปรีชาศิลปะกุล.บุคคลเพศหลากหลายในระบบกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ 2556.
ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558.2558. สืบค้นจาก : http://www.thaigov.go.th/pcb/data/group2/g2n02.pdf.
Advocate. Pennsylvania improving policies housing transgender.2016. Available from; http://www.advocate.com/transgender/2015/9/23/pennsylvania-improving-policies-housing-transgender-prisoners
bbcnews.Transgender woman Tara Hudson moved to female prison. 2015. Available from : http://www.bbc.com/news/uk-england-34675778.
Huffingtonpost. New York’s Largest Jail To Open Housing Unit For Transgender Women.2016. Available from: http://www.huffingtonpost.com/2014/11/18/rikers-transgender-women_n_6181552.html.
Jody Marksamer and Harper Jean Tobin. Standing with LGBT prisoners : An advocate’s Guide to Ending Abuse and Combating imprisonment. Washington, DC : National center for transgender equality, 2012.
United Nations Development Programme. Being LGBT in asia : Thailand country report. Bangkok :UNDPAsia – Pacific Regional Cemtre, 2014.
[1] นิสิตปริญญาเอก สาขาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Nathee Chitsawang
Copyright 2016 | All Rights Reserved.