MENU

Vol.4 No.3 (กรกรฏาคม-กันยายน w.ศ.2564)

บทความ

Volume 2

การลดการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิง : จันโมเดล

โดย ดร.ชาญ วชิรเดช

การลดการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิง : จันโมเดล

 

      อัตราการกระทำผิดซ้ำนับเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการใช้วัดความสำเร็จในการส่งผู้ต้องขังกลับสู่สังคมของเรือนจำ แม้จะเป็นตัวชี้วัดที่ไม่สมบูรณ์เสียทีเดียวแต่ก็เป็นตัวชี้วัดที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป เรือนจำจังหวัดจันทบุรีจึงได้นำอัตราการกระทำผิดซ้ำมาให้ประเมินความสำเร็จของเรือนจำ ในการส่งผู้ต้องขังคืนสู่สังคมภายใต้โครงการ “จันโมเดล” ซึ่งเป็นตัวแบบในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงของเรือนจำจังหวัดจันทบุรีที่เป็นเอกลักษณ์และนวัตกรรมยังไม่มีการนำไปปฏิบัติในเรือนจำอื่นๆ แต่ประการใด โดยเมื่อมีการประเมินการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิงที่พ้นจากเรือนจำจันทบุรี ภายใต้ “จันโมเดล” แล้วพบว่ามีอัตราการกระทำผิดซ้ำลดลงอันเป็นการแสดงถึงความสำเร็จของ   “จันโมเดล” อย่างชัดเจน บทความเรื่องนี้จึงมุ่งที่จะเสนอแนวทางในการดำเนินงานของเรือนจำจังหวัดจันทบุรีภายใต้ “จันโมเดล”ว่ามีปัจจัยใดที่นำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าว

 

กระบวนการในการหล่อหลอมขัดเกลา

 

    เรือนจำจังหวัดจันทบุรีเป็นเรือนจำชายที่มีผู้ต้องขังหญิงขนาดกลางอยู่ในเรือนจำ โดยที่มีผู้ต้องขังชาย 2,200 คน ผู้ต้องขังหญิง 295 คน โดยคุมขังผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีและผู้ต้องขังคดีเด็ดขาดที่มีกำหนดโทษไม่เกิน 25 ปี มีเจ้าหน้าที่ชาย 57 คน และเจ้าหน้าที่หญิง

13 คน ซึ่งต้องรับผิดชอบในการดูแลผู้ต้องขังหญิงให้เป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่งเรือนจำแห่งนี้ เป็นเรือนจำต้นแบบในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพของกรมราชทัณฑ์ นอกจากนี้ยังมุ่งในการ “คืนคนดี มีคุณค่า สู่สังคม” ของผู้ต้องขังหญิงตามแนวทางของเรือนจำจังหวัดจันทบุรี โดยเหตุที่เรือนจำจังหวัดจันทบุรีเป็นเรือนจำชายที่มีแดนหญิงขนาดกลางอยู่ภายในเรือนจำจึงทำให้ผู้ต้องขังหญิงซึ่งมีอยู่ 295 คน ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดและขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการและกระบวนการในการอบรมแก้ไข ดังเช่น ผู้ต้องขังชายซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางมีโรงเรียน สถานพยาบาล โรงฝึกอาชีพ โรงยิม สนามกีฬาและอาคารเรียนที่กว้างขวางดังนั้นเพื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวเรือนจำจังหวัดจันทบุรีจึงปรับกระบวนการในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงใหม่ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพโดยมุ่งที่จะส่งผู้ต้องขังหญิงคืนสู่สังคม โดยผ่านกระบวนการในการหล่อหลอมขัดเกลาภายใต้ “จันโมเดล”

  กระบวนการในการหล่อหลอมขัดเกลาผู้ต้องขังหญิงของเรือนจำจังหวัดจันทบุรี ดำเนินการเช่นเดียวกับ กระบวนการในราชทัณฑ์โดยทั่วไป คือเริ่มจากการรับตัว จำแนกลักษณะ   การอบรม การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและการดูแลหลังปล่อย แต่มีการดำเนินงานที่แตกต่างออกไปอยู่ที่การดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนแรก นับตั้งแต่การจำแนกต่อเนื่องจนถึง การอบรมการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและการดูแลหลังปล่อย โดยมีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังนั้น จะมีบุคคลภายนอกมาเป็นกรรมการ ในขณะที่การฝึกอบรมต่างๆ ก็มีชุมชนทั้งภาคเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุน ทั้งในส่วนของการจ้างงานภายในเรือนจำและสนับสนุนการฝึกอาชีพผู้ต้องขังในโครงการจันแลนด์ รวมถึงการพัฒนาจิตใจด้านอื่นๆ เช่น หลักสูตรการสร้างแรงบันดาลใจ หลักสูตร SME เปลี่ยนชีวิตเป็นต้น

 

      ด้านเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยถือว่าเป็นหัวใจหลักของ “จันโมเดล” เพราะนอกจากมีการดำเนินการตามกระบวนการในการเตรียมความพร้อมปล่อย แล้วยังมีการจัดทำ “โครงการจันแลนด์” ขึ้นมารองรับซึ่งแตกต่างและเป็นนวัตกรรมของเรือนจำแห่งนี้ ทั้งนี้โดยการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ผู้ต้องขังเข้าสู่เรือนจำ ผ่านกระบวนการจำแนก การอบรมและก่อนพ้นโทษ 1 ปี จะมีการจำแนกซ้ำอีกครั้งเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยอย่างจริงจัง สำหรับคนที่เข้าเกณฑ์การทำงานนอกจากเรือนจำก็จะได้รับการคัดเลือกไปฝึกอาชีพ ในโครงการจันแลนด์ ซึ่งจะเป็นการประกอบอาชีพบริการที่ลงปฏิบัติกับชุมชนโดยตรง ขณะเดียวกัน จะมีการพัฒนาจิตใจและเตรียมพร้อมในการกลับสู่สังคม ทั้งในส่วนของอาชีพและจิตใจอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพ้นโทษก็จะมีชุมชนและเครือข่ายเข้ามาดูแลช่วยหางานหรือรับเข้าไปทำงานอย่างต่อเนื่อง

 

     สุดท้ายเมื่อผู้ต้องขังกลับสู่สังคมก็จะมีกระบวนการสนับสนุนจากชุมชน (care support) ซึ่งมีบริษัท ห้างร้าน หน่วยราชการ องค์กรท้องถิ่นให้การสนับสนุนในการจัดหางาน หรือสร้างอาชีพต่อยอดให้กับผู้พ้นโทษ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากบริษัท ห้างร้าน องค์กรและชุมชนคนจันทบุรีที่ร่วมสนับสนุนให้สังคมของจันทบุรี เป็นสังคมของความสงบสุขและปลอดภัย

 

ลักษณะพิเศษของ “จันโมเดล”

 

     การลดการกระทำผิดซ้ำของเรือนจำจังหวัดจันทบุรีมีเอกลักษณ์พิเศษแตกต่างจากการดำเนินการของเรือนจำอื่นๆ จนกล่าวได้ว่าเป็น “จันโมเดล” เพราะมีลักษณะสำคัญดังนี้ คือ

 

    1.การดำเนินการในการส่งผู้ที่กระทำผิดกลับคืนสู่สังคมนั้น อาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่น ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการอบรมแก้ไขผู้กระทำผิดหญิง ตั้งแต่แรก จนกลับคืนสู่สังคม ภายใต้สโลแกน “เรือนจัน เรือนใจ เพื่อคนจัน สร้างสังคมปลอดภัย” โดยระดมทรัพยากรจากในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยงบประมาณจังหวัด การสนับสนุนงบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างจากภาคเอกชนการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการออกแบบจากมหาลัยราชภัฏรําไพพรรณี ในขณะที่ภาคเอกชนยังเข้ามาช่วยด้านการฝึกอบรมฝึกอาชีพผู้ต้องขังและรับเข้าทำงานเมื่อพ้นโทษ เป็นต้น ซึ่งจากการได้รับการสนับสนุนทรัพยากรดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่จะ “ส่งคนดีกลับบ้าน” โดยเห็นพ้องต้องกันว่าผู้ต้องขังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เมื่อพ้นโทษกลับมาก็ต้องกลับมาอยู่ในชุมชนดังนั้นทุกคนจึงควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบร่วมกันที่แก้ไขฟื้นฟูคนเหล่านี้ให้กลับตนเป็นคนดีของสังคม รวมทั้งเปิดโอกาสและให้ความช่วยเหลือสามารถพึ่งตนเองได้ จึงเป็นการลดการกระทำผิดซ้ำและสร้างสังคมจันทบุรีสงบสุขปลอดภัยอย่างแท้จริง

 

    2.มีการจัดทำ “เรือนจันแลนด์” เพื่อรองรับการฝึกอาชีพผู้ต้องขังเป็นการเปิดเรือนจำสู่สังคมและเพื่อรองรับการแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยจัดตั้งพื้นที่ให้ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษได้นำความรู้จากการฝึกอาชีพมาประยุกต์ปฏิบัติจริง ในพื้นที่ของโครงการที่มีลักษณะเป็นกิจการท่องเที่ยวและบริการโดยมีโดยมีโดยมีที่ตั้งอยู่ติดกับเรือนจำในลักษณะไปเช้าเย็นกลับ นอกจากนี้ยังเป็นการให้ผู้พลั้งพลาดเหล่านี้ได้มีโอกาสปรับตัวกับสภาพสังคมภายนอกเรือนจำก่อนพ้นโทษ ตลอดจนมีวิชาชีพติดตัวสามารถพึ่งตนเองได้ภายหลังพ้นโทษ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการสามารถค้นหาแรงงานที่มีทักษะฝีมือ โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อแสดงความประสงค์ที่จะรับผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษเหล่านี้ไปทำงานต่อได้โดยผ่านศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ หรือ Care Center ของเรือนจำ นับเป็นนวัตกรรมในการจัดทำโครงการฝึกอาชีพในกิจการหลากหลายที่ไม่มีการจัดทำในเรือนจำใดมาก่อน

 

โครงการเรือนจันแลนด์ ประกอบด้วย 7 สถานี

1. เรือนจัน ครัวไทย (ฝึกอาชีพการทำอาหารขายอาหาร)

2. เรือนจัน Tree Cafe : กาแฟ & เบเกอรี่ (ฝึกอาชีพการขายกาแฟ เบเกอรี่)

3. เรือนจัน Green Outlet : จำหน่ายผักปลอดสารพิษ (ฝึกการทำผักปลอดสารพิษ)

4. เรือนจำ พิพิธภัณฑ์เพื่อนุรักษ์ เสื่อจันทบูร : โชว์เสื่อลายโบราณ การสาธิตและจำหน่าย (ฝึกการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากเสื่อ)

5. คุกขี้ไก่จำลอง : สำหรับนักท่องเที่ยวถ่ายรูป (จุดดึงคนเข้าโครงการ)

6. เรือนจัน สบาย : นวดดัด จัดสรีระ (ฝึกการนวดฝ่าเท้า)

7. เรือนจัน คาร์แคร์ : บริการล้าง อัด ฉีดรถยนต์ (ฝึกการล้างรถยนต์)

 

โครงการ “เรือนจันแลนด์” เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นมาจากการระดมความคิดของ

คนจันทบุรี ในการทำความเข้าใจและตีความ (Empathize and Define) กับความต้องการผู้ต้องขังหญิงโดยเอาผู้ต้องขังเป็นศูนย์กลางซึ่งพบว่าการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังหญิงในกำแพงเรือนจำไม่สามารถตอบโจทย์การมีงานทำหลังพ้นโทษได้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการจึงเป็นที่มาของการมีวิชาการฝึกอาชีพผู้ต้องขังใหม่ เป็นแนวที่ไม่เคยมีการทำมาก่อนเป็นนวัตกรรม (Ideate)  และนำไปสู่การลงปฏิบัติและพัฒนา (Prototype และ Test) โดยจัดส่งผู้ต้องขังหญิงออกมาฝึกวิชาชีพขายอาหารที่ครัวจันก่อน ปรากฏว่าประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับที่ดี จึงขยายต่อเป็นสถานีอื่นๆ เป็น “เรือนจันแลนด์” เป็นสถานีฝึกวิชาชีพครบวงจรที่ผู้ต้องขังหญิงสามารถฝึกอาชีพในสนามจริง ขณะเดียวกันก็ทดสอบจิตใจการยอมรับกลับสู่สังคมของคนจันทบุรี และทำให้ผู้ต้องขังมีความคุ้นเคยและสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอก

 

       3. “จันโมเดล” ขับเคลื่อนด้วยการนำเอาผู้ต้องขังเป็นศูนย์กลางโดยอาศัยการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังเป็นหลัก การคัดเลือกผู้ต้องขังออกไปดำเนินการในโครงการจันแลนด์ก็ดี หรือในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยก็ดีจะมีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังซ้ำอีกครั้ง เพื่อที่จะกรองคนออกไปฝึกอาชีพ หรือเข้าไปทำโปรแกรมอบรมด้านต่างๆ กล่าวคือผู้ต้องขังหญิงทุกคนที่จะรับการปล่อยตัวจากเรือนจำจันทบุรี จะต้องมี “เป้าหมายชีวิต”และมีเส้นทางที่ชัดเจนซึ่งจะร่วมกับเรือนจำ ในการผลักดันให้ไปถึงเป้าหมาย ดังเช่นกรณีผู้ต้องขังหญิงที่ออกไปฝึกอาชีพขายกาแฟในโครงการจันแลนด์      ก็จะคัดเลือกที่สนใจและตั้งใจจะไปประกอบอาชีพทางนี้ โดยจะมีการเติมความรู้ด้านการค้าขาย การหาทำเลและการเปิดร้านอีกทางหนึ่ง ไม่เพียงแต่ไปนั่งขายกาแฟหารายได้เข้าเรือนจำแต่ประการเดียว หรือผู้ต้องขังที่จะออกไปฝึกงานที่ร้านครัวจันจะคัดเลือกจากผู้ต้องขังที่มีความประสงค์จะไปประกอบอาชีพหรือรับจ้างในร้านอาหารหรือขายอาหาร โดยผ่านการฝึกฝนด้านการทำอาหารการบริการและการประกอบอาหารธุรกิจด้านนี้เพื่อว่าเมื่อพ้นโทษออกไปจะสามารถไปต่อยอดธุรกิจหรือทำงานยังร้านอาหารหรือภัตตาคารได้หรือคนที่จะออกไปทำงานนวดฝ่าเท้า ก็จะประสงค์จะออกไปทำอาชีพนี้ เมื่อพ้นโทษโดยจะมีการเสริมเรื่องภาษจีนและการหาแหล่งงานให้ ขณะเดียวกันคนที่มีปัญหาครอบครัว ปัญหาการเงิน ก็จะได้รับการจำแนกเข้าโปรแกรม แก้ปัญหาเป็นรายบุคคลต่อไป

 

       4. “จันโมเดล” มีการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการประเมินความสำเร็จของโครงการ โดยอาศัยอัตราการกระทำผิดซ้ำ เป็นตัววัดความสำเร็จ ขณะเดียวกันตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ เช่นการกลับสู่ครอบครัวโดยมีงานทำ การที่มีอาชีพได้จากการฝึกในเรือนจำ ก็จะเป็นตัวชี้วัดอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ นับเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรือนจำในประเทศไทย

 

หลักฐานเชิงประจักษ์

โครงการ “จันโมเดล” เป็นโครงการที่ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการประเมินผลสำเร็จของการลดการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิง โดยสามารถแยกพิจารณาจากสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิงในสองระดับ คือ

 

การประเมินจากสถิติการกระทำผิดซ้ำในภาพรวม

 กรณีนี้ เป็นการพิจารณาจากสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิงที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำจังหวัดจันทบุรี ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยแยกการกระทำผิดซ้ำในรอบ 1 ปีนับแต่วันพ้นโทษ รอบ 2 ปี และ 3 ปีนับแต่วันพ้นโทษ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิงเริ่มลดลงนับจากที่ได้รับการดำเนินการตามโครงการ “จันโมเดล”ไปได้ 1 ปี  คือเดือนตุลาคม พ.ศ.2560            ซึ่งเห็นได้ว่าสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิงนับตั้งแต่ปี 2560 ลดลงตามลำดับ

  ปรากฏรายละเอียดตามตารางที่ 1

การประเมินจากผู้พ้นโทษเป็นรายบุคคล

 เมื่อพิจารณาจากผู้พ้นโทษหญิงจากเรือนจำจังหวัดจันทบุรีในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาโครงการจันโมเดล จำนวน 89 คนพบเส้นทางกลับสู่สังคมดังนี้

 ก.ไม่กระทำผิดซ้ำ

 1.กลับสู่ครอบครัวซึ่งมีอาชีพเดิมสุจริตรองรับ   60 ราย

 2.กลับสู่ครอบครัวโดยมีอาชีพใหม่ในการรับจ้างแรงงาน 10  ราย

           ทั่วไปหรือพนักงาน

 3.กลับสู่ครอบครัวโดยมีอาชีพอิสระ ค้าขาย นวดฝ่าเท้า   6  ราย

 4.ครอบครัวแตกแยก ออกไปทำอาชีพรับจ้าง     ราย

 5.ครอบครัวแตกแยกยังไม่มีงานทำ      8 ราย

 ข.กระทำผิดซ้ำ         3 ราย (คิดเป็นร้อยละ 2.2)

ทั้งนี้มีการติดตามในปีที่ 2และ3 ต่อไป

 

ข้อสังเกตจากการประเมินผล

  1.การที่ผู้ต้องขังกลับสู่ครอบครัวและประกอบอาชีพเดิม เพราะมีครอบครัวที่อบอุ่นรองรับและมีอาชีพที่สุจริตที่สามารถทำให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ แต่สาเหตุที่ทำผิดเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เกิดการขัดแย้งทะเลาะกัน หรือเกิดจากความฟุ่งเฟ้อนิยมในวัตถุ ทำให้นำไปสู่การกระทำผิดแต่การได้ผ่านโปรแกรมบำบัดที่เรือนจำจัดขึ้นเพื่อรองรับได้สร้างพื้นฐานทางจิตใจให้สามารถกลับสู่ครอบครัวและอาชีพเดิมและสามารถดำรงชีวิตในสังคมโดยไม่กระทำผิดซ้ำได้อีก

  2.ผู้ต้องขังบางส่วนที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพใหม่และต้องการเริ่มชีวิตใหม่ ส่วนใหญ่จะมาจากผู้ต้องขังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมาก่อนโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ขาดความรู้ ทักษะในการประกอบอาชีพ ทำให้หันไปสู่การกระทำผิดในคดียาเสพติดแต่จากการที่เข้าสู่การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยของเรือนจำจังหวัดจันทบุรี ทำให้ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพใหม่ ซึ่งครอบคลุมทั้งวิชาชีพและเส้นทางในการทำธุรกิจหรือรับจ้างในสังคมจนสามารถเริ่มต้นมีชีวิตใหม่ในสังคม โดยบางคนอาจจะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อให้พ้นจากสภาพแวดล้อมเดิมที่ส่งพวกเขาเข้าไปในเรือนจำ

  3.ครอบครัวถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกลับคืนสู่สังคมของคนจันทบุรี เพราะจังหวัดจันทบุรีเป็นสังคมเกษตรกรรมเป็นหลัก ดังนั้นครอบครัวจึงมีความผูกพันและดูแลสมาชิกกันเป็นอย่างดีกิจกรรมของเรือนจำจึงเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว แต่สำหรับคนที่ยังไม่มีครอบครัวหรือมีปัญหาครอบครัว การฝึกอบรมก็จะแตกต่างออกไปโดยเน้นการดำรงชีวิตด้วยตนเอง และหากคิดจะมีครอบครัวก็จะมีการอบรมให้แนวทางอีกส่วนหนึ่ง

 

ส่งท้าย

  เรือนจำจังหวัดจันทบุรีเป็นเรือนจำที่ประสบความสำเร็จในการลดการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิงลง และสามารถส่งผู้ต้องขังหญิงกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้อาศัยความร่วมมือสนับสนุนของชุมชน ในจังหวัดจันทบุรีทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเรือนจำเน้นเรื่องเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยระยะยาวอย่างจริงจังให้กับผู้ต้องขังหญิง รวมทั้งการจัดทำ “โครงการจันแลนด์” ขึ้นรองรับการฝึกอาชีพของผู้ต้องขัง โดยมีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังที่ต้องการไปประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับงานที่ออกไปฝึกปฏิบัติและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภายนอกได้รับรู้ และสร้างการยอมรับในฝีมือการทำงานจนเปิดโอกาสการรับไปทำงานด้วยเมื่อพ้นโทษ ซึ่งเมื่อพ้นโทษไปแล้วได้มีการติดตามประเมินผล และพบว่าอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังหญิงที่พ้นโทษออกจากเรือนจำจังหวัดจันทบุรี มีอัตราการกระทำผิดซ้ำที่ลดลง จนกล่าวได้ว่าความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากรูปแบบการทำงานใหม่ในการส่งผู้ต้องขังกลับสู่สังคมที่เรียกว่า “จันโมเดล”

 

H O M E

A B O U T

O U R T E A M

Nathee Chitsawang

Copyright 2016 | All Rights Reserved.